วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 18, 2551

พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ออกมาเมื่อไร เตรียมตัวเอาเงินไปใส่ไห" จริงเหรอ?

วันก่อนได้ยินเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก เลยสนใจขึ้นมา
ไปค้นข้อมูลได้ ปุจฉา-วิสัชนา นี้เข้าใจง่ายดี เลยเอามาแปะไว้ครับ

จากเวป http://topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/2007/10/I5918584/I5918584.html
ในเวปมีรูปตารางประกอบด้วยนะครับ

มล.ไม่รู้ว่า ข้อมูลอัพเดทเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมากน้อยแค่ไหนนะครับ


 เริ่มละนะครับ




      คิดว่าหลายๆ ท่านคงเป็นกังวลเกี่ยวกับ พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่าพรบ.ประกันเงินฝาก ที่ ธปท กำลังจะนำมาใช้ เห็นเค้าบอกว่า จะรับผิดชอบเงินฝากแค่ล้านเดียวถ้าแบงค์เจ๊ง อ้าวทำไมทำกันแบบนี้ละจ๊ะ เห็นเค้าว่ากันอีกด้วยว่า ถ้าพรบ.นี้ออกมานะ คนจะแห่ถอนเงินไปใส่ไห

      เพราะฉะนั้นกระทู้นี้ ผมเลยขออาสามาเล่าถึง พรบ ตัวนี้ ผลกระทบของมัน และข้อดีข้อเสีย (ในสายตาผม) ให้ทุกท่านสดับรับฟังกันนะครับ


      Outline ครับ

      1. พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก คืออะไร

      2. โครงสร้างของเงินฝากในประเทศไทย

      3. ผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน/ผู้รับฝากเงิน ข้อดี - ข้อเสีย ของพรบ.นี้ และเราๆ ควรจะต้องทำปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมันมีผลบังคับใช้


      ขอโทษด้วยนะครับ ถ้ากระทู้นี้ค่อนข้างยาว เผอิญอยากจะเขียนให้ละเอียดแบบอ้างอิงกันได้เลย

      ก้อค่อยๆ อ่านแล้วกัน อย่างน้อยอาทิตย์นี้ หุ้นน่าจะพักฐานบ้าง น่าจะมีเวลาว่างๆ กันอยู่ (ไปแช่งหุ้นซะงั้น ฮา)

      จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:43:35 ]

   
 
 

                  ความคิดเห็นที่ 1

                  Q: พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากคืออะไร

                  A: เป็นพรบ. ที่จะจัดตั้ง องค์กรที่เรียกว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ขึ้นมา องค์ที่ว่านี้ เป็นอิสระ ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองเงินฝากให้กับผู้ฝากเงิน และในกรณีที่สถาบันการเงินถูกปิดกิจการ องค์กรนี้จะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินคืนให้กับผู้ฝากเงินทุกราย

                  เพื่อให้ผู้ฝากมั่นใจได้ว่าเวลาสถานบันการเงินมีปัญหาผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็ว จนไม่ตื่นตระหนก แห่กันไปถอนเงินทุกครั้งที่มีข่าวลือว่า สถาบันการเงินโน้นนี้ จะล้ม (อย่าว่าแต่พี่ไทยครับ เดือนก่อนแบงค์ใหญ่อย่าง Northern Rock ของอังกฤษยังประสบปัญหานี้มาแล้ว เหอๆ)

                  โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะมีคณะกรรมการคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนจากภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ทำหน้าที่บริหารครับ

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:43:58 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 2

                  Q: พรบ.ที่ว่า มีผลบังคับใช้เมื่อใด?

                  A: ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) ครับ คาดว่าทางแบงค์ชาติและกระทรวงการคลังคงพยายามเข็นมาให้ทันภายในรัฐบาลนี้ (พร้อมๆ กับกฏหมายการเงินฉบับอื่นๆ)

                  ถ้า สนช ผ่านกฏหมายนี้ ก้อจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                  สนช มีอายุแค่ปีนี้ (ถ้าเลือกตั้งไม่เลื่อน) นั่นหมายความว่า ภายในครึ่งปีหน้า (2551) กฏหมายฉบับนี้ก้อจะมีผลบังคับใช้ครับ

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:44:37 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 3

                  Q: คุ้มครองใคร?

                  A: คุ้มครองคนทุกคนที่นำเงินไปฝากไว้ในสถาบันการเงินครับ

                  สถาบันการเงินที่ว่าคือ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ซึ่งรวมทั้ง ธพ.ไทย และธพ.ต่างชาติ, บริษัทเงินทุน, และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ รวมกันทั้งสิ้น 43 แห่งครับ
                  ( http://www.bot.or.th/bothomepage/databank/Financial_Institutions/Address/AddressT.htm )

                  อีกทั้งในร่างยังเปิดช่องให้รวมถึงธนาคารที่มีกฏหมายเฉพาะได้อีกด้วย (พวก ออมสิน ธกส ธอส บลาๆๆ )  ถ้าเห็นสมควร

                  ที่ไม่รวมพวกออมสิน อะไรพวกนี้ เพราะ(เดา)ว่า ถือกฏหมายคนละฉบับกันในการจัดตั้งกันครับ อีกทั้งธนาคารเหล่านี้ รัฐบาลเป็นเจ้าของ ซึ่งในทางทฤษฎีรัฐบาลไม่มีวันเจ๊งอยู่แล้วครับ (อย่างน้อยก้อพิมพ์แบงค์มาจ่ายได้ ในกรณีล้มละลาย)

                  สรุป ใครก้อตามที่ฝากเงินกับสถาบัน 43 แห่งข้างต้น จะได้รับการคุ้มครองเงินต้นในกรณีที่สถาบันการเงินนั้นๆ เจ๊งครับ

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:45:05 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 4

                  Q: คุ้มครองที่ว่านี่ เห็นเค้าบอกว่าแค่ 1 ล้านใช่ไหม?

                  A: ถูกต้องนะครับ

                  แต่ไม่ได้หมายความว่า พอกฏหมายบังคับใช้ปุ๊ป แล้วคุณจะโดนคุ้มครองแค่ 1 ล้านทันทีนะครับ

                  ตามร่าง เค้าบอกว่า  ในปีแรกที่พรบ.ฉบับนี้บังคับใช้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะคุ้มครองเต็มจำนวนเงินครับ

                  จากนั้นถึงจะ ทยอยลดวงเงินการคุ้มครองจนเหลือ 1 ล้าน ภายใน 4 ปีครับ

                  คงจะประมาณว่า ถ้าคุณได้พี่แซมมาอาทิตย์ก่อน (ผมยังเคืองไม่หายเลยอ่ะ วันที่ทุบไป 6.80 แล้วดึงกลับไปปิด high 7.70 เจ้าเล่นแบบนี้นี่ T-T )

                  คุณเลยเอากำไรที่ได้ ไปฝากเงินที่ ธนาคาร A จำนวน 1,000 ล้านบาท

                  ปีแรกที่พรบ บังคับใช้ ถ้าแบงค์ A เจ๊ง สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายเงิน ให้คุณเต็มจำนวน 1,000 ล้านบาท

                  ถ้าแบงค์เจ๊งในปีที่ 2 หลังจากพรบ บังคับใช้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายให้คุณ 20 ล้านบาท (ที่เหลืออีก 980 ล้าน ก้อซวยไป)

                  ปีที่ 3 จะจ่ายให้เพียง 10 ล้านบาท (ที่เหลืออีก 990 ล้านก้อซวยไป)

                  ปีที่ 4 จะจ่ายให้เพียง 5 ล้านบาท (ที่เหลืออีก 995 ล้านก้อซวยไป)

                  ภายหลังปีที่ 4 ไปแล้ว จะจ่ายให้เพียง 1 ล้านบาท ในกรณีที่ ธนาคาร A ล้ม ที่เหลืออีก 999 ล้านบาท ก้อซวยไป

                  ทั้งนี้ รายละเอียดวงเงินสำหรับการชดเชยให้ในแต่ละปี คณะกรรมการคุ้มครองเงินฝากจะกำหนดต่อไปครับ

                  อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า ถ้าแบงค์เจ๊ง แล้วคุณจะได้เงินคืน แค่ 1 ล้านนะครับ เพราะถ้าแบงค์เจ๊ง แสดงว่าแบงค์ล้มละลาย และศาลท่านคงจะให้นำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด และนำเงินมาคืนเจ้าหนี้ ซึ่งก้อคือ บรรดาผู้ฝากเงินทั้งหลายเนี่ยละ

                  แต่ที่แน่ เราคงได้เงินคืนไม่ครบแน่ๆ ครับ เวลาแบงค์ล้ม ;)

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:45:19 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 5

                  Q: แล้วตกลงคนละ 1 ล้าน หรือ บัญชีละ 1 ล้านกันแน่?

                  A: อันนี้รู้สึกว่าจะถามกันมามากที่สุด

                  ชี้ชัดๆ ตรงนี้ครับ บัญชีละ 1 ล้าน ต่อ 1 ธนาคารครับ

                  สมมติว่าคุณมีเงิน 2 ล้าน คุณก้อแยกฝาก สองธนาคาร ก้อจบ ถ้าธนาคารทั้งสอง ล้มพร้อมกัน คุณก้อจะได้รับเงินคืนครบ 2 ล้านบาทครับผม ;)

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:45:37 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 6

                  Q: แล้วสถาบันคุ้มครองเงินฝากเค้าจะเอาเงินมาจากไหนอ่ะ

                  A: เห็นว่าจะมีเงินประเดิมจากรัฐบาลให้ 1,000 ล้านบาท และสถาบันการเงินที่มีบัญชีได้รับการคุ้มครองจะต้องจ่ายเงินสบทบเข้าสถาบัน

                  อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ แต่คิดว่า อัตราการนำส่งจะเท่ากับอัตราที่สถาบันการเงินนำส่งให้กับกองทุนฟื้นฟูในปัจจุบันที่ 0.4% ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ย (รู้สึกจะแบ่งจ่ายปีละสองงวด)

                  ในอนาคตอาจจะให้สถาบันการเงินจ่ายเงินผันแปรกันตามความเสี่ยงของแต่ละแห่ง เช่น แบงค์นี้เสี่ยงมาก ต้องจ่ายเยอะ แบงค์นี้เสี่ยงน้อยหน่อย ก้อจ่ายน้อยตาม

                  แล้วทางสถาบันก้อจะนำเงินเหล่านี้ไปหาดอกผล เพื่อสำรองเตรียมไว้ในกรณีที่มีสถาบันการเงินเจ๊ง จะได้นำเงินส่วนนี้มาจ่ายทดแทนให้ครับ

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:46:15 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 7

                  Q: ทำไมถึงต้องการเข็นมันออกมา?

                  A: คงยังจำกันได้ใช่ไหมครับ เมื่อตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ที่คนแห่กันมาถอนเงินมากๆ เนื่องจากกลัวว่า ถ้าสถาบันการเงินนั้นๆ เจ๊ง จะทำให้เงินของตัวเองสูญหายไปด้วย

                  เอ่อ พูดถึงตรงนี้ หลายท่านที่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงระบบธนาคารมากนัก อาจจะสับสน ไม่เคลียร์ หรือบางคนอาจจะคืนครูบาอาจารย์ไปหมดแล้ว เลยขออนุญาตเตือนความจำสั้นๆ แล้วกันนะครับ ^^"

                  ธนาคารโดยทั่วไป ดำเนินธุรกิจโดยรับจ้างฝากเงิน โดยให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงิน และจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปล่อยกู้ แต่กฏหมายมักจะบังคับให้เหลือเงินสำรองไว้ส่วนหนึ่ง เผื่อคนที่ฝากไว้มาถอน เช่น กำหนดเงินสำรองไว้ 10% เวลามีผู้เอาเงินมาฝากธนาคาร A  50 คน คนละ 100 บาท ธนาคาร A จะนำเงินไปปล่อยกู้ได้เพียง 90% ของ 100 x 50 = 4,500  บาทเท่านั้น และเผื่อไว้อีก 500 บาท ในกรณีที่ 50 คนนั้น อาจจะต้องการถอนเงินไปใช้จ่าย

                  ถ้า 50 คนดังกล่าว มาถอนเงินและฝากเงิน รวมกัน บวกลบแล้ว แบงค์จ่ายไม่เกิน 500 บาท แบงค์ก้ออยู่ได้

                  ต่อให้เกิน 500 บาทนิดหน่อย สัก 100-200 แบงค์อาจจะต้องไปกู้คนอื่นมาให้ก่อน และอาจเสียดอกแพง แม้จะเจ็บตัวนิดหน่อย แต่แบงค์ก้อยังอยู่ได้ 

                  ทีนี้สมมติว่า A นำเงิน 4,500 ไปปล่อยกู้ทั้งหมด แล้วอยู่ๆ มีข่าวลือว่าธนาคาร A จะเจ๊ง 50 คนที่ว่านั้น ก้อจะแย่งชิงกันไปถอนเงิน ต่อให้ A อยู่ของ A เฉยๆ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น A ที่มีเงินเหลือเพียง 500 บาท ก้อไม่สามารถที่จะจ่ายให้ทั้ง 50 คนได้ทั้งหมด สุดท้าย A ก้อจะเจ๊งในที่สุด ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดอะไรของ A เลย

                  เห็นไหมครับ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของธนาคารอย่างหนึ่งคือ ความเชื่อมั่นของคน

                  พรบ.นี้ออกมาก้อเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเช่นนี้แล

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:46:32 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 8

                  Q: จริงอ่ะ เห็นเค้าบอกว่า เพราะพรบ.อันนี้ทำให้คนยิ่งไม่เชื่อมั่นหนักขึ้นไปอีก เพราะเมื่อก่อนยังตอนที่ยังไม่มี พรบ.นี้ เราไม่เห็นต้องกลัวโดนเบี้ยวเงินกรณีแบงค์ล้มเลย?

                  A: 55+ พูดอีกก้อถูกอีกครับ

                  ความจริง มันก้อแปลกดีที่ปัจจุบัน เราไม่มีระบบประกันการฝากเงิน แต่เราทุกคนมั่นใจว่า รัฐจะต้องจ่ายเงินให้เราทั้งหมด ในกรณีแบงค์ล้ม

                  แต่พอมีระบบประกันเงินฝากออกมาใช้ คนกลับกลัวว่าจะไม่ได้เงินคืน เพราะระบบจะจ่ายคืนแค่ล้านเดียว 

                  จริงๆ แล้วเรื่องมันเกิดมาตั้งแต่ก่อนวิกฤตปี 40 ครับ ที่ตอนนั้น คนได้รับข่าวลือว่าแบงค์โน้แบงค์นี้จะล้ม คนเลยแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร ซึ่งอย่างที่กล่าวไว้ คห ก่อน ว่าต้องให้แบงค์ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่พอเจอคนมาถอนเงินเยอะๆ แบงค์ก้อล้มได้เองโดยอัตโนมัติ

                  รัฐบาลในขณะนั้น มีมติให้ผู้ฝากและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน (Blanket Guarantee)  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และยึดถือเป็นหลักปฏิบัติเรื่อยมา

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:46:46 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 9

                  คิดว่าคงพอเห็นภาพของ พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ฉบับนี้นะครับ

                  ก่อนที่จะวิจารณ์มัน ผมอยากจะนำข้อมูลโครงสร้างเงินฝากของไทยมาให้ดูกันก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่า จะมีใครถูกกระทบบ้าง เพื่อที่เราจะได้บอกได้ว่า มันมี ข้อดี ข้อเสีย อย่างไร

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:47:04 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 10

                  โครงสร้างการฝากเงินของไทยในปัจจุบัน

                  จากรูป เราจะเห็นได้ว่า ณ วันสิ้นงวด ไตรมาสที่ 2  เงินฝากใน ธพ. มีจำนวนทั้งสิ้น 6,659,610 ล้านบาท ถ้าบวกกับเงินฝากในบริษัทเงินทุนอีก 42,690 ล้านบาท และเงินฝากในบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อีก 617 ล้านบาท แล้วละก้อ เงินฝากที่ได้รับผลกระทบจากพรบ.สถาบันการเงินมีทั้งสิ้น 6,659,610 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 75.49 ของเงินรับฝากของสถาบันการเงินทั้งหมด

                  และเนื่องจากเงินฝากในบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์มีสัดส่วนน้อยมากในเงินฝากที่ได้รับผลกระทบ (ไม่ถึง 1%) ประกอบกับผมหาข้อมูลบัญชีของเงินฝากในส่วนนี้ไม่เจอ (ซึ่งคือเหตุผลใหญ่ แฮ่ะๆ) ในส่วนถัดไป ผมจะตัดเงินก้อนนี้ออกจากการวิเคราะห์นะครับ เราจะดูกันเฉพาะในส่วนของ ธพ ล้วนๆ ^^"

                  source: table 25 http://www.bot.or.th/bothomepage/databank/EconData/EconFinance/tab25.asp

                     
                  
                  


                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:47:40 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 11

                  แอ่นแอ๊น นี่เป็นข้อมูลที่ทุกท่านอยากรู้ครับ (วานซืนเห็นมีคนตั้งกระทู้ถามว่าคนไทยที่มีบัญชีเกิน 100 ล้านบาท มีสักกี่คน)

                  จากข้อมูลของแบงค์ชาติ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2550 ธพ มีบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น 71,508,041บัญชี คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 6,761,274 * ล้านบาท

                  จะเห็นได้ว่าสัดส่วนเป็นที่เป็นบัญชีออมทรัพย์สูงสุดคือ 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 40% ของเงินฝากทั้งหมด รองลงมาเป็นฝากประจำที่ไม่เกิน 3 เดือน คิดเป็น 23% ในขณะที่บัญชีประเภทจ่ายคืนเมื่อทวงถามคิดเป็นเพียง 5% เท่านั้น

                  source: http://www.bot.or.th/bothomepage/databank/Financial_Institutions/New_Fin_Data/CB/cb_t6.asp

                  * ตัวเลขของธพ.นี้เป็นของสิ้นเดือนสิงหาคมนะครับ ในขณะตัวเลขเงินฝากใน ธพ.ใน คห.ก่อนหน้า เป็นตัวเลข preliminary ณ สิ้นไตรมาส 2 (สิ้นเดือนมิถุนายน) อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะเปรียบเทียบทั้งสองอันด้วยเดือนมิถุนายน มันก้อยังไม่เท่ากันอยู่ดี พอดีตอนที่เขียนเป็นวันเสาร์อาทิตย์เลยโทรไปถามแบงค์ชาติไม่ได้ ผมเลยเดาเอาเองว่า ความคลาดเคลื่อนเกิดจากการนับ items ในแต่ละรายการต่างกัน (เช่นในตารางนี้อาจรวม item นี้ ในขณะที่อีกตารางไม่รวม) ถ้าท่านใดรู้ (ผมว่านอกจากแบงค์ชาติเอง คนอื่นคงไม่รู้หรอก ^^" ) รบกวนขอคำชี้แนะด้วยครับ

                     
                  
                  


                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:48:03 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 12

                  ผมเอามาทำใหม่ให้ดูง่ายขึ้น (รึเปล่า? ฮา) และเพิ่มสัดส่วนของแต่ละอันเข้าไป

                  เราจะพบว่า เมื่อแยกตามขนาดของบัญชีแล้ว  99% มีเงินในบัญชีต่ำกว่า 1 ล้านบาท

                  อย่างไรก็ตาม อีก 1% ที่เหลือที่มีเงินเกิน 1 ล้านนั้น มูลค่าของเงินส่วนนี้กลับมีสัดส่วนสูงถึง 75% ของเงินฝากทั้งหมด

                  ทั้งนี้ โดยปกติบัญชีหนึ่งบัญชี มีคนถือ 1 คน นะครับ

                  แต่คน 1 คน ไม่จำเป็นว่า ต้องมีหนึ่งบัญชีนะครับ

                  เพราะฉะนั้น ยกตัวอย่างว่า มี 517 บัญชีที่มีเงินเกิน 500 ล้าน

                  แต่ใน 517 บัญชีนี้ ผมเดาว่า อาจจะอยู่ในมือคนไม่กี่คน หรืออาจจะไม่กี่ตระกูล เผลอๆ จะถึง 20 ตระกูลหรือเปล่ายังไม่รู้เลย

                  นี่ยังไม่นับคนที่ไม่ได้แสดงบัญชีอยู่ในตารางนี้อีกนะครับ

                  ซึ่งคนที่ไม่ได้อยู่ในนี้ ผมเดาเลยว่ามี 2 ประเภทใหญ่ๆ

                  คือ 1 คนที่โคดรวยมหาศาล มีเส้นสายที่จะเอาเงินไปฝากไว้ที่ต่างๆ ทั่วโลก หรือคนที่มีเงินผิดกฏหมายที่ไม่สามารถนำมาฝากในธนาคารได้

                  และ 2 คนที่อย่าว่าแต่ในเงินในบัญชีเลย เงินจะซื้อข้าวกินเย็นนี้จะมีหรือเปล่ายังไม่รู้เลย ซึ่งหาได้ดาดเดื่อนทั่วไป


                  เห็นปัญหาอะไรอย่างหนึ่งของประเทศไทยไหมครับ

                  คนจนก้อจนดักดาน คนรวยก้อรวยต่อไปเรื่อยๆ เหอๆๆ

                  ถ้าคุณมีเงินในบัญชีเกินกว่า 1 ล้าน (คิดว่ามีหลายคนทีเดียวที่กำลังอ่านกระทู้นี้อยู่) คุณคือหนึ่งในร้อยของประเทศไทยนะครับ

                  ถ้ามีโอกาส กรุณาหันมามองคนอีก 99 คนที่ไม่ได้มีเหมือนคุณด้วยนะครับ ;)

                     
                  
                  


                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:48:26 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 13

                  จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เรารู้ว่า พรบ.นี้จะกระทบคนที่เป็นเจ้าของบัญชีจำนวน 880,387 บัญชี ที่มีเงินในบัญชีเกิน 1 ล้านแค่นั้น

                  ส่วนอีก 70 ล้านบัญชีที่เหลือ ไม่ได้รับผลกระทบ (ทางตรง) ใดใด ทั้งสิ้น เพราะต่อให้แบงค์ล้ม สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็จะจ่ายเงินให้คุณเต็มจำนวน เนื่องจากคุณมีเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:48:49 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 14

                  Q: ข้อดีของพรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก?

                  A: ข้อดีมีมากมายก่ายกองเลยครับ

                  1. ลดภาระของรัฐบาลในกรณีสถาบันการเงินมีปัญหา

                       จำตอนปี 40 ได้ไหมครับ มีการประเมินกันว่า ความเสียหายที่รัฐบาลต้องเข้าไปรับผิดชอบภายใต้กองทุนฟื้นฟูนั้นมีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว ถ้ามีสถาบันคุ้มครองเงินฝากซะ รัฐบาลจะได้สบายใจ ไม่ต้องกังวลว่า เวลาเกิดเหตุการณ์แบงค์ล้ม จะต้องเจียดเงินภาษีของเราๆ มาช่วยผู้ฝากเงินอีก


                  2. ลด Moral Hazard ของผู้ฝากเงินและสถาบันการเงิน

                      รู้จักคำว่า Moral Hazard ใช่ไหมครับ (ยังไม่เคยเจอใครแปลเป็นไทย แล้วอ่านรู้เรื่อง เลยขออนุญาตทับศัพท์นะครับ ^^" )

                      Moral Hazard แปลว่า พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อทราบว่าความเสี่ยงนั้นๆ มีบุคคลอื่นมาช่วยรับ อาทิ คุณขับรถเร็วขึ้น จากเดิมขับ 80 ก้อเหยียบเป็น 120  เมื่อคุณทำประกันอุบัติเหตุรถยนต์ (เพราะถ้ารถชน คุณไม่เสียตัง มีคนมาจ่ายแทนคุณเป็นต้น)

                       เช่นกันครับ ทุกวันนี้สถาบันการเงินบางแห่ง มักทำอะไรที่เสี่ยงเกินพอควร เพราะทราบดีกว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลจะต้องเข้ามาอุ้ม ธพ.บางแห่งปล่อยกู้ดะ โดยไม่สนใจว่า ลูกค้ารายนั้นเครดิตดีหรือไม่ เพียงพอต้องการยอดสินเชื่อ โดยรู้ว่า ถ้าเกิดแบงค์ล้ม เดี๋ยวรัฐบาลก้อมาจ่ายให้เองล่ะ

                       เช่นเดียวกันกับผู้ฝากเงินครับ ที่ไหนให้ดอกเบี้ยสูง ก้อเฮกันไปฝาก โดยไม่สนใจว่าแบงค์นั้นๆ มีความเสี่ยงหรือไม่ เพราะมั่นใจว่า ถ้าแบงค์ล้ม เดี๋ยวรัฐบาลก้อจะจ่ายเงินต้นให้เราแทนแบงค์นั้นๆ เองล่ะ

                      ถ้ามีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทุกคนจะรู้ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายให้ไม่เกิน 1 ล้านนะ เพราะฉะนั้น คุณจะต้องไปบริหารความเสี่ยงให้ดีดี อย่ามาหวังพึ่งแต่รัฐ


                  3. ช่วยให้สถาบันการเงินแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

                     ธพ บางแห่ง (โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ) มักบ่นว่า แข่งดอกเบี้ยกับรายเล็กๆ ลำบาก เพราะผู้ฝากเงินดูแต่ดอกเบี้ยอย่างเดียวเลย ไม่ดูเลยว่า แบงค์นั้นเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ทำให้แบงค์ใหญ่ๆ ถ้าจะแข่ง ก็ต้องทำตัวเองให้เสี่ยงขึ้นตามมา (เพื่อที่จะได้เสนอดอกเบี้ยสูงๆ ได้) ส่งผลให้ความเสี่ยงของระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่จำเป็น

                     ถ้า พรบ. นี้มีผลบังคับใช้ แบงค์ที่ความเสี่ยงน้อยๆ ก้อไม่จำเป็นต้องไปแข่งด้านดอกเบี้ยกับแบงค์เล็กๆ ที่เสี่ยงกว่า เนื่องจากตนจะไปเน้นจุดขายด้านความเสี่ยงแทน ส่งผลดีต่อความเสี่ยงโดยรวมของระบบครับ


                  4. ประเทศไทยจะลดการพึ่งพิงสถาบันการเงินมากขึ้น

                    ตอนที่เราเจ๊งเมื่อปี 40 หนึ่งในเหตุผลสำคัญคือ ภาคธุรกิจพึ่งพิงการกู้ยืมจากสถาบันการเงินมากเกินไป เพราะเวลาแบงค์ล้ม ทั้งภาคธุรกิจ (ที่เป็นผู้กู้) และภาคประชาชน (ที่เป็นผู้ออม) ก้อจะเจ๊งตามไปด้วย สุดท้ายก้อเจ๊งกันทั้งประเทศ
                  
                    พอมี พรบ. นี้ จะเป็นการบีบให้ประชาชนหันไปหาการออมแบบอื่นๆ มากขึ้น อาทิ แทนที่จะไปฝากแบงค์ ก้อจะไปซื้อหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคธุรกิจแทน ซึ่งเป็นการกู้ยืมกันโดยตรง ไม่ต้องผ่านแบงค์ และพอเวลาแบงค์ล้ม ภาคธุรกิจและประชาชน ก้อจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก (อย่างน้อยก้อน้อยกว่าตอนปี 40)

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:49:08 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 15

                  Q: แล้วข้อเสียล่ะ?

                  A: ไม่มีครับ (ฮา)

                  อย่างน้อยผมยังคิดไม่ออก ว่าอะไรที่จะเป็นข้อเสียของ พรบ. ฉบับนี้

                  และนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักเลยครับที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา เผื่อมีท่านใดมีความเห็นแตกต่างในเรื่องนี้ ผมจะได้เรียนรู้ไปด้วยครับ

                  เท่าที่คิดได้ คนที่เสียประโยชน์ คือคนที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งถ้าพูดกันอย่างแฟร์ๆ เงินของคุณเอง คุณก้อต้องหาทางปกป้องเอง ถ้าคุณไปทำอะไรเสี่ยงๆ (เช่นไปฝากแบงค์ที่ให้ดอกสูงๆ) คุณก้อต้องยอมรับความเสี่ยงนั้น ไม่ใช่ว่าพอแบงค์ล้ม คุณมาเรียกร้องให้รัฐเข้าไปช่วย โดยนำภาษีของคนทั้งประเทศมาจ่ายให้คุณ มันก้อไม่ค่อยจะยุติธรรมจริงไหมครับ?

                  เพราะทีผมเสียมดเอ็กซ์ไม่เห็นมีใครมาประกันเงินลงทุนให้ผมมั่งเลย (ฮา)

                  เค้าถึงบอกว่า การลงทุน (แม้จะเป็นการฝากเงินก็ตาม) มีความเสี่ยงไงครับ ;)

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:49:22 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 16

                  Q: แล้วคนที่มีเงินเกิน 1 ล้านบาท ควรทำอย่างไร

                  A: อย่างแรกสุดคือ ถ้าคุณต้องการฝากเงินไว้ในแบงค์จริงๆ ให้กระจายออกเป็นบัญชีละไม่เกิน 1 ล้าน แยกฝากตามสถาบันการเงินทั้งหมด 43 แห่งข้างต้นครับ

                  สิ่งที่ตามมาคือ ความยุ่งยาก และความลำบากในการจัดการกับบัญชีทั้ง 43 บัญชีครับ

                  จะเห็นได้ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว มันจะมีผลกระทบต่อคนที่มีเงินเกิน 43 ล้านบาทเท่านั้น

                  ถ้าสมมติว่า ยังไงๆ ก้อจะฝากแบงค์อย่างเดียวอีก แล้วไม่ต้องการความเสี่ยงเลย ให้นำเงินไปฝากสถาบันการเงินของรัฐบาลครับ เพราะอย่างที่บอก แบงค์ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ไม่มีวันล้ม ในทางทฤษฎีครับ

                  หรือไม่อย่างนั้น คุณก้อต้องจัดการเงินของคุณโดยกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนประเภทต่างๆ อาทิ แยกนำไปซื้อพันธบัตร, กองทุน, หรือจะมาไล่พวกหุ้นปั่นแปะกับผม ก้อมิมีปัญหาแต่อย่างใดครับพี่ ^^"

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:49:35 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 17

                  Q: อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

                  A: ถ้าพรบ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เต็มตัวเมื่อไร สิ่งที่ผมมองว่ามันจะเกิดขึ้นมีดังนี้

                     1. บัญชีที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท จะไหลไปสู่ ธพ.ที่ให้ดอกเบี้ยสูงสุด โดยไม่สนใจว่า ความเสี่ยงของแบงค์นั้นจะเป็นเท่าไร ในขณะที่บัญชีที่เกิน 1 ล้านบาท จะไหลไปสู่ ธพ. ที่มั่นคงที่สุด (และอาจจะดูเรื่องผลตอบแทนบ้าง)

                  นั่นหมายความว่า แบงค์เล็กๆ จะหันไปหารายย่อยมากขึ้น ในขณะแบงค์ใหญ่ๆ จะไปมุ่งมั่นกับบรรดาเจ้าสัวโดยเฉพาะ

                     2. เงินจะไหลเข้าสู่รูปแบบการออมแบบอื่นๆ มากขึ้น ทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ (อาทิ ทองคำ) กองทุน บลาๆๆ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบการเงินของไทยให้เติบโตและแข็งแรงขึ้นในอนาคตครับ

                    3. อันนี้เป็นข้อแนะนำสำหรับน้องๆ ที่กำลังศึกษาอยู่นะครับ ในมุมมองของผม ถ้าพรบ.อันนี้บังคับใช้จริงๆ งานพวก Wealth management เช่นพวก private fund อะไรทำนองนี้ น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะปัจจุบันเหมือนกับบุคลกรด้านนี้ (ที่เก่งๆ) เรายังขาดอยู่เยอะ อีกอย่างพวกกองทุนต่างๆ น่าจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเพราะเงินส่วนนี้ (ไอ้ 3 ใน 4 จาก คห.บนๆ นั่นอ่ะ) มันมหาศาลมากๆ ( 5 ล้านล้านบาทอ่ะ) เอาแค่มันไหลออกจากระบบเงินฝากในธพ มาหาส่วนอื่นสัก 1 ล้านล้าน ไม่สิ แค่ 100,000 ล้าน มันก้อตาลุกแล้วใช่ไหมครับ กองทุนคงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กันเยอะแยะ เพื่อรองรับเงินก้อนนี้ เพราะฉะนั้นเตรียมไปสอบ CFA, CISA กันให้ดีดีครับ
                      
                       อีกเรื่องคือ ธนาคารทั่วๆ ไป จะต้องยกระดับ Risk Management ครั้งใหญ่ จะคิดว่า risk management เป็นเรื่องของ back office อย่างที่แล้วๆ มาไม่ได้แล้ว ต่อไปนี้ risk manangement จะกลายเป็นพระเอกสำหรับธุรกิจธนาคารเต็มตัว เพราะจะกลายเป็นว่า ธนาคารไหนจัดการความเสี่ยงของตนได้ดีที่สุด นอกจากจะมีต้นทุนต่ำสุดแล้ว ยังจะมีเงินก้อนใหญ่ๆ จากบรรดาผู้อันมีจะกินไหลเข้าไปอีกด้วย

                       งานที่น่าสนใจในอนาคตในแวดวงการเงิน คงเป็นพวกนี้ละครับ ;)

                  จากคุณ : m_ple - [ 15 ต.ค. 50 09:49:50 ]
               
            
            

                  ความคิดเห็นที่ 18

                  Q: สรุปไม่ต้องกังวล พรบ.นี้ดีทุกอย่าง?

                  A: อาจจะพูดอย่างนั้นได้ครับ ถ้าไม่ใช่ที่นี่ประเทศไทย ^^"

                  อย่าลืมว่าประเทศไทย โดยเฉพาะนักการเมืองไทยเรื่อง abuse อะไรดีดีให้กลายเป็นสิ่งเลวร้ายขึ้นมาได้ เพียงเพื่อเอาผลประโยชน์ใส่ตัวเนี่ย ของถนัด

                  ไม่อยากจะขัด ธปท. หรือ ก.คลัง หรอกนะครับ แต่อยากจะถามว่า ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้น เราจะจัดการมันอย่างไร ขอยกตัวอย่างที่คิดออกสัก 2 เหตุการณ์นะครับ



                  อย่างแรกคือ อย่างที่เรียนไว้ข้างต้น เงินจะไหลไปสู่ธนาคารที่มั่นคงโดยเฉพาะธนาคารของรัฐน่าจะเป็นเป้าหมายหลัก

                  ถ้าเงินท่วมแบงค์รัฐ รัฐจะต้องจัดการกับเงินส่วนนี้ โดยการปล่อยกู้ออกไปให้ได้มากขึ้น เพื่อหารายได้ให้มากขึ้น เพื่อมาจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงิน

                  ถ้านักการเมืองฉวยโอกาสนี้ บังคับให้ปล่อยกู้ให้กับเครือญาติของตน อะไรจะเกิดขึ้นครับ?

                  เอาแค่ปัจจุบันลองหันไปดูในตลาด ธนาคารของรัฐบางแห่งเพิ่มทุนแล้ว เพิ่มทุนอีก ไม่เคยเห็นมีกำไรสักที รัฐบาลอัดเงินเข้าไปเรือ่ยๆ พอถลุงกันหมด ก้อมาเพิ่มทุนใหม่ เงินนั่นมันก้อเงินภาษีเราๆ นะครับ

                  รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจได้ไหม ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น



                  อีกตัวอย่างหนึ่งคือ จริงอยู่ พรบ.ฉบับนี้ กระทบแค่คนรวย คนส่วนใหญ่ (99%) ของประเทศไม่เดือนร้อน อย่างที่ ธปท. ตีฆ้องร้องป่าวมาตลอด

                  แต่ที่สิ่ง ธปท.พูดไม่หมด (พูดเบาๆ ^^" ) คือ ใช่คนส่วนใหญ่ไม่เดือดร้อน แต่เงินส่วนใหญ่เดือดร้อน เพราะเงินที่กระทบมีสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4

                  แล้วเวลาเกิดวิกฤตที่แล้วๆ มา มันเกิดกับคนส่วนใหญ่ หรือเงินส่วนใหญ่?

                  ปี 40 ที่เจ๊งกันทั่วประเทศ ปัญหาอยู่ที่คนส่วนใหญ่ หรือเงินส่วนใหญ่?

                  ใช่ไหมละครับ

                  คำถามคือ (ขอยกตัวอย่างแบบ extreme case) ถ้าวันหนึ่งเกิดวิกฤตอะไรก้อแล้วแต่ ทำให้แบงค์ใหญ่สักแบงค์ที่มีเงินของคนรวยไปอยู่เยอะๆ เจ๊งลงไป (อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ  ถ้าเมื่อก่อนมีใครบอกว่า Worldcom ของสหรัฐจะเจ๊ง คนคงหาว่า อีนี้ไม่บ้าก้อเมา ฮา)

                  ถามว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากจ่ายเงินให้เค้า 1 ล้านแล้วจบเหรอ?

                  ถ้าคนรวยๆ เหล่านี้เจ๊งไป บริษัทใหญ่ๆ ที่เค้าเป็นเจ้าของอาจจะเจ๊งตามไป และคนงานนับหมื่นๆ คนที่เค้าจ้างไว้ ก้อจะเจ๊งตาม

                  ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น รัฐจะยอมปล่อยให้กลไกลตลาด ทำงานโดยไม่ยอมแทรกแซงหรือไม่?

                  ถ้ายอมไม่ได้ ก้อเตรียมตอบคำถามให้ดีแล้วกัน ทำแบบนี้ยุติธรรมดีแล้วเหรอ? แล้วสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ทำมาเพื่ออะไร เพราะเมื่อเกิดวิกฤต รัฐก้อต้องเข้ามาช่วยเหลืออยู่ดี?

                  ฝากไว้ให้คิดครับ ;)

                  จากคุณ : m_ple 

2 ความคิดเห็น:

phyche phyche123 กล่าวว่า...

อิอิ สงสัยมีตังค์แยะจัด

Hornbill B กล่าวว่า...

อิ อิ ยิ่งหาไหใส่ลำบากนิ..สมัยนี้ แย่เลย