วันเสาร์, สิงหาคม 05, 2549

๏~* การสร้างความสัมพันธ์อันดี *~๏

ก้อบจากเมล์


การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน toy888@gmail.com
.

การทำงานของคนเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นงานธุรกิจส่วนตัว หรือทำงานในองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าขนาดใหญ่ หรือเล็กเพียงใด
 คงไม่มีใครที่จะทำงานโดยลำพังแต่ผู้เดียวโดยไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ นั่นคือคนต้อง ทำงานร่วมกับคนอื่น ทั้งที่อาวุโสกว่าตน อ่อนอาวุโสกว่าตน และเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในระดับเดียวกัน หรือที่มัก เรียกกันว่า "เพื่อนฝูง" หรือ "เพือ่นร่วมงาน" หรือ "เพื่อน" มีท่านผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า คนเราจะมีความเจริญ ก้าวหน้านั้น นอกจากจะมีผู้ใหญ่ที่อยู่ในระดับสูง ดึงเราขึ้นไปข้างบน คนที่เป็นลูกน้อง ช่วยสนับสนุน ดัน ให้เราขึ้นไป ยังไม่พอ เพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน หรือ เพื่อนฝูง ต้องคอยช่วยเหลือ ประคับประคอง เมื่อเราเสียหลักหรือหกล้ม นั่นคือเราต้องมีเพื่อนที่ดีด้วย ดังคำกลอนที่เราเคยได้ยินกันจนคุ้นหูว่า

     มีเพื่อนดีแม้เพียงหนึ่งถึงจะน้อย
ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา
เหมือนน้ำจืดบ่อน้อยด้อยราคา
ยังดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เราต้องหาเพื่อนที่ดี และต้องเป็นเพื่อนที่ดีกับผู้อื่นด้วยคนจึงอยากจะคบหา สมาคมอยากอยู่ใกล้ เพราะรู้สึกอบอุ่น เป็นมิตร ปลอดภัย เป็นที่พึ่ง เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ ดังนั้น เราจึงควรรู้จัก วิธีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน อันได้แก่

1. เปิดฉากทักทายติดต่อก่อน ลดทิฐิลงเสียบ้าง หัดเป็นคนรู้จักทักทายคนอื่นก่อนเสียบ้าง
2. มีความจริงใจต่อเพื่อน
3. ไม่นินทาเพื่อนแม้ว่าจะเป็นที่ถูกใจของคู่สนทนา
4. ไม่ซัดทอดความผิดให้เพื่อน
5. ยกย่องชมเชยเพื่อนในโอกาสอันควร(ชมมากกว่าติ)
6. ให้ความช่วยเหลือกิจการงานของเพื่อนด้วยความเต็มใจ
7. ให้เพื่อนรับทราบเรื่องที่เขารับผิดชอบหรือเกี่ยวข้อง
8. หลีกเลี่ยงการทำตัวเหนือเพื่อน
9. ทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย
10. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนฝูง
11. ออกไปพบปะสังสรรค์บ้างตามโอกาสอันควร
12. ช่วยเหลือเพื่อน เป็นที่พึ่งแก่เพื่อนยามทุกข์ร้อน
13. ให้เกียรติและรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน
14. เก็บความลับของเพื่อน รักษาสัจจะ
15. แนะนำเพื่อนไปในทางที่ดี ไม่พาไปสู่ทางเสื่อม

ในทางพุทธศาสนาได้กล่าวถึงเพื่อนแท้ว่ามี 4 จำพวก คือ



จำพวกที่ 1 เพื่อนมีอุปการะ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
2. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว
3. เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งได้
4. เมื่อมีธุระ ช่วยออกทรัพย์ ออกแรง มากกว่าออกปาก

จำพวกที่ 2 เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. ขยายความลับของตนแก่เพื่อน
2. ปิดความลับของเพื่อน
3. ไม่ละทิ้งเพื่อนยามวิบัติ
4. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้
 
จำพวกที่ 3 เพื่อนแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. ห้ามไม่ให้ทำชั่ว
2. แนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
4. บอกทางสวรรค์ให้


จำพวกที่ 4 เพื่อนมีความรักใคร่ มีลักษณะ 4 อย่าง คือ
1. เมื่อมีทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
2. เมื่อมีสุขก็สุขด้วย
3. โต้เถียงคนที่ติเตียนเพื่อน
4. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

หน้าที่ของคนที่ควรปฏิบัติต่เพื่อน ตามหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ประการ ได้แก่
1. การให้ปัน
2. การกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่รัก
3. ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อน
4. ความเป็นผู้มีตนเสมอ
5. ไม่แกล้งกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง

สิ่งต่าง ๆ ที่ได้เขียนไปแล้วนั้น เป็นเพียงหัวข้อย่อ ๆ มิได้ขยายความอะไรให้เยิ่นเย้อ คิดว่าท่านผู้อ่าน จะขยายความได้และเข้าใจ ทำให้ไม่เสียเวลาในการอ่าน และประหยัดพื้นที่ด้วย จะเห็นว่าสิ่งที่กล่าวไปทั้งหมด คงหนีไม่พ้นหลักธรรมทางพุทธศาสนา ที่เป็นธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจผู้อื่น หรือธรรมเพื่อให้คน เป็นที่รักของคนทั่วไป คือ สังคหวัตถุ 4 (Base of sympathy) นั่นเอง ซึ่งได้แก่

1. ทาน (giving offering) คือการให้ เสียสละ แบ่งปันแก่ผู้อื่น
2.ปิยวาจา (Kindly speech) คือ พูดจาด้วยถ้อยคำสุภาพ นุ่มนวล เหมาะแก่บุคคล เวลา สถานที่ พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดในทางสร้างสรรค์ และเกิดกำลังใจ
3. อัตถจริยา (useful conduct) ทำตนให้เป็นประโยชน์ ตามกำลังสติปัญญา ความรู้ความสามารถ กำลังทรัพย์ และเวลา
4. สมานัตตตา (even and equal treatment) คือทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย วางตนเหมาะสมกับ ฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ร่วมทุกข์ร่วมสุขสม่ำเสมอ

หลักธรรมที่กล่าวมานี้ หากผู้ใดยึดถือปฏิบัติ เชื่อแน่ว่าจะเป็นที่รักใคร่เคารพนับถือของเพื่อนร่วมงาน และบุคคลทั่วไป คนไทยเรานั้น มักชอบจดจำถ้อยคำที่คล้องจองกัน จึงใคร่ขอเสนอคำที่จะทำให้จำได้ง่าย และเป็นคาถาสำหรับทำให้ตนเองเป็นที่รักใคร่ของบุคคลทั่วไป คือ เราควรจะเป็นคนที่

โอบอ้อมอารี (ทาน)
วจีไพเราะ (ปิยวาจา)
สงเคราะห์ปวงชน (อัตถจริยา)
วางตนเหมาะสม (สมานัตตตา)
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การสร้างมนุษยสัมพันธ์ในฐานะผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้าtoy888@gmail.com
 
 
โขลงช้างย่อมมีพญาสาร           ครอบครองบริวารทั้งหลาย
ฝูงโคขุนโคก็เป็นนาย           ต่างหมายนำพวกไปหากิน
ฝูงหงษ์มีเหมราชา           สกุณามีขุนปักษิณ
เทวายังมีสักรินทร์           เป็นปิ่นเทวัญชั้นฟ้า
หมู่คนจะตั้งเป็นคณะ           ต่างคิดเกะกะตามประสา
จะอยู่ไปได้ดีกี่เวลา           ดูน่าจะยับอับจน
จำเป็นต้องมีหัวหน้า           กะการบัญชาให้เป็นผล
กองทัพบริบูรณ์ด้วยผู้คน           ไม่มีจุมพลจะสู้ใคร

จากบทร้อยกรองข้างบนนี้ ผ.ศ. มณเฑียร ดีแท้ อดีต อาจารย์ สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้กล่าวไว้ หมายถึงว่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือมนุษย์ เมื่ออยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า ต้องมีผู้นำ หรือหัวหน้า การเป็นหัวหน้า หรือผู้นำ หรือผู้บังคับบัญชา หรือลูกพี่ หรือจะเรียกเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ที่มีความหมายว่า เป็นผู้บังคับบัญชา คนที่เป็นหัวหน้านั้น บางคนก็ได้รับความเคารพนับถือ เลื่อมใสศรัทธา รักใคร่จากลูกน้อง บางคนก็ธรมมดาๆ ลูกน้องรู้สึกเฉยๆ (ไม่ดีไม่ร้าย) แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คนที่ลูกน้องส่วนใหญ่บ่น ด่า ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ไม่เคารพนับถือ อยากจะย้ายตนเองไปอยู่ที่อื่น หรืออยากให้เจ้านายคนนั้น ย้ายไปให้ไกลๆ โดยเร็ว การปกครองคนสมัยนี้จะใช้อำนาจ หรือพระเดชเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อครั้งกาลก่อนคงไม่ได้ เพราะคนสมัยนี้มีการศึกษา มีความคิดความอ่านดีขึ้น สามารถรับความรู้ได้จากทุกสารทิศ หมายความว่า คนสมัยนี้มีการศึกษาดีขึ้นนั่นเอง ถึงแม้ว่าโลกจะวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเร็วเท่าใด ไกลเท่าใด วิธีการ ทางพุทธศาสนายังใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย สมัยในที่นี้จะขอเสนอแนะหลักการปฏิบัติของนายต่อบ่าว ตามแนว พุทธศาสนา ได้กล่าวไว้ว่า มี 5 ประการ คือ

1. จัดงานให้ตามกำลัง หมายถึง มอบหมายงานให้ลูกน้องให้เหมาะกับความรู้ ความสามารถ สติปัญญา กำลังกายของเขา ตลอดจนมองว่างานนั้นใช้เวลามากน้อยเพียงใด เพื่อนร่วมทีมของเขามีเพียงพอ ไหม เวลาสำหรับงานนั้นๆ เพียงพอไหม วัสดุอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำงานนั้นมีเพียงพอไหม มีข้อจำกัดอะไรบ้าง อย่าให้ลูกน้องเครียดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ (หรือทำงานจนกระทั่งไม่ได้หลับไม่ได้นอน) เพราะนายเร่งใช้ทำให้เสร็จตามที่กำหนด งานบางอย่างคุณวุฒิของเขาที่สำเร็จการศึกษามา สาขานั้นๆ ระดับนั้นๆ หรือความสามารถเฉพาะตัวของเขา สามารถทำงานที่นายต้องการได้ในระดับไหน

2. ให้อาหารและให้รางวัล นายที่ดีต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ว่ามีการหิว เหนื่อย ร้อน หนาว ฯลฯ ไม่ควรปล่อยให้ลูกน้องหิวเมื่อทำงานสำคัญบางโอกาส อาจพาลูกน้อง (ทั้งทีมงาน) ไปทานอาหาร หรือซื้ออาหาร ขนม เครื่องดื่ม มาฝากบ้างตามโอกาสอันควร การให้รางวัลก็เช่นกัน ควรมีบ้างตามโอกาสอันควร หรือเมื่อ งานสำเร็จก็มีรางวัลให้ (อย่างน้อยก็คำชมเชยก็ยังดี) พาลูกน้องไปเลี้ยงเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในโอกาสที่ ทำงานได้สำเร็จ เป็นต้น

3. รักษาพยาบาลยามป่วยไข้ หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า "ยามดีก็ใช้ ยามไข้ไม่รักษา" ยามเมื่อลูกน้องเจ็บป่วย ควรไปเยี่ยมเยือนรวมทั้งบุคคลในครอบครัวของเขาด้วย คอยถามทุกข์สุข อาการเจ็บป่วยแสดงความห่วงใย มิใช่พอลูกน้องลาป่วย ก็บ่นว่าทำไมต้องป่วย ทำไมป่วยบ่อยจัง

4. ให้รับประทานของที่มีรสแปลกใหม่ ผู้ที่เป็นผู้บังคับบัญชา มักมีโอกาสออกจาก พื้นที่ไปยังต่างแดนบ่อยๆ ควรหาซื้อของที่ไม่มีในพื้นที่ของตน มาฝากลูกน้องบ้าง ตามโอกาส เช่น ให้ได้กินของที่ไม่มีกินในบ้านเมืองของเรา มีสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีในท้องถิ่นของเรา ติดไม้ติดมือมาฝากลูกน้อง ตามสมควร เป็นต้น

5. ปล่อยในสมัยอันสมควร ในที่นี้หมายถึง โอกาสที่ควรปล่อยเสียบ้างตามสมควร เช่น เทศกาลสงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา วันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่หยุดติดต่อกันหลายวัน ลูกน้อง ขอออกก่อนเวลาบ้างเล็กน้อย ก็น่าจะอนุญาต สำหรับคนบ้านไกลต้องเดินทางไกล เพราะรถอาจ จะแน่น การจราจรจะติดขัดมาก ทั้งนี้อาจรวมถึงยามเมื่อลูก หรือ พ่อ แม่ ของลูกน้อง ป่วยหนัก อยู่โรงพยาบาล เขามาทำงานช้านิดหน่อย หรือขอออกก่อนเวลาเล็กน้อย ก็ไม่ควรเข้มงวดจนเกินควร เพราะไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ตลอดปี สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อความรู้สึก สภาพจิตใจของลูกน้องพอสมควร การปล่อยในสมัยอันควรมิใช่ว่า วันลอตเตอรี่ออก ไม่ทำงานทำการ หาใครก็ไม่พบ ผู้คนมาติดต่อก็ ไม่ได้รับความสะดวกก็ให้อภัยลูกน้องว่า เป็นการปลอ่ยในสมัยอันสมควร เพราะวันนี้เป็นวันหวยออก ถ้าอย่างนี้ก็เป็นการปลอ่ยในสมัยอันสมควรที่ไม่ถูกต้องนัก

ความจริง หลักมนุษยสัมพันธ์ของผู้บริหาร หลายๆ ท่านได้เรียนรู้มามากมาย ทั้งตำราของไทย และต่างประเทศ แต่ผู้เขียนเห็นว่าไม่ต้องไปท่องจำตำราอะไรมากมาย หรือกล่วถึงทฤษฎีต่างๆ โดยไม่ลงมือปฏิบัต หากปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ก็จะทำให้ทั้งเจ้านายและลูกน้องทำ งานด้วยกันอย่างมีความสุข เป็นห่วงเป็นใย เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ผู้บริหารที่ดีควรจะมี หลักธรรมที่เรียกว่า พรหมวิหาร 4 (Holy abiding) ได้แก่ เมตตา (Living - Kindness) กรุณา(Compassion)มุฑิตา(Sympathetic joy) อุเบกขา(Nautrality) คงไม่ต้องขยายความเพราะชาวพุทธ (หรือไม่ใช่ชาวพุทธ ที่เคยเรียนโรงเรียนในประเทศไทย ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว แต่ผู้บริหารอย่าหลงไปยึดถือเอา พรมวินาศ 4 เป็นที่ตั้งก็แล้วกัน ซึ่งพรหมวินาศ 4 ได้แก่

บ้าอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงลูกน้อง ยกย่องคนชั่ว
นอกจากนี้ อนันท์ งามสะอาด (มปป. : 83-84) ยังได้กล่าวถึงหลักมนุษย์สัมพันธ์ ในฐานะนักบริหารไว้ว่า
1. ควรสร้างบุคลิกภาพการเป็นผู้นำ ทั้งการแต่งกาย การพูดจา การแสดงออกทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ให้เหมาะกับกาลเทศะ โดยอยู่ในพื้นฐานของการให้เกียรติผู้อื่นเสมอ
2. เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ลูกน้องได้ อย่าช่วยเหลือแนะนำมากเกินไป
3. ให้รู้จักให้กำลังใจแก่ลูกน้อง โดยยึดหลักชมให้มาก ตำหนิให้น้อย
4. รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์
5. รู้จักวางแผนงาน รู้จักมอบหมายและสั่งงาน โดยรู้จักใช้คนให้เหมาะกับงาน
6. รู้จักส่งสริม (promote) สนับสนุนลูกน้องเมื่อเขาทำดีมีผลงาน
7. รู้จักวิเคราะห์บนพื้นฐานความเป็นจริง เพื่อรู้จุดเด่น จุดด้อยของลูกน้อง
8. มีความสามารถในการตัดสินใจ และแก้ปัญหาได้ ในปัญหาที่เห็นว่าควรกระทำ
9. อดทน สุขุม เยือกเย็น รู้จักควบคุมอารมณ์
10.ไม่ตำหนิลูกน้องต่อหน้าคนอื่น
11.ให้ความสนใจสวัสดิภาพ สวัสดิการ ของลูกน้อง
12.มีมิตรภาพนอกเวลาทำงาน แสดงความยินดีต่อลูกน้อง และสมาชิกในครอบครัวของ
ลูกน้องตามโอกาสอันควร
13.แสดงความเอื้ออาทรต่อลูกน้อง และสมาชิกในครอบครัวของลูกน้อง
14.ไม่หลงอำนาจ
15.ไม่แสดงอาการดูถูกลูกน้อง
16.ไม่ทำตัวเป็นคนขี้ระแวงสงสัย
17.รู้จักให้อภัย ไม่ผูกใจเจ็บ แก้เผ็ดแก้แค้น ไม่ปัดความรับผิดชอบ
18.ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
19.ไม่ตัดสินใจขณะทีมีอารมณ์โกรธ
20.หลีกเลี่ยงการมอบหมายงานเมื่อถึงเวลารับประทานอาหาร หรือขณะที่กำลังจะหมดเวลาทำงาน
21.ควรเป็นคนมีอารมณ์ขัน พูดคุยเล่นกับลูกน้องบ้างตามโอกาสอันควร
22.กำหนดเวลาเลิกงานให้แน่นอน
23.คำสั่งต้องชัดเจน
24.กระตุ้นให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็น
25.เน้นศีลธรรมจรรยาในอาชีพ ฯลฯ

ที่กล่าวมา รู้สึกจะมากมายเหลือเกิน ความจริงแล้วนักบริหาร ที่ศึกษาเล่าเรียนกันไม่ว่าจะเป็นสถาบัน ในประเทศ หรือต่างประเทศ หากนำตำรามากองรวมกันแล้วย่นย่อมาเขียน ก็คงจะมากกว่าที่ผู้เขียนได้ รวบรวมไว้ในที่นี้หลายเท่านัก ผู้บริหารที่สำเร็จวิชาการบริหารระดับสูงจากต่างประเทศ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถกำหัวใจลูกน้องไว้ได้ ท่านอาจจะมีความมั่นใจสูงมาก คิดว่าท่านศึกษาเล่าเรียนมามากกว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านหลายร้อยเล่มเกวียน และคิดว่าท่านได้เรียนสำเร็จวิชาการบริหารแล้ว ลองอ่านนิทานสั้นๆ ต่อไปนี้ดูก่อนเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ซึ่งนิทานโบราณได้เล่าไว้ว่า มานพน้อยได้เดินทางกลับบ้านพร้อมด้ยเกวียนที่บรรทุกตำราที่ได้เรียนมา

เมื่อถึงบ่อน้ำแห่งหนึ่ง ได้หยุดพักเผอิญได้พบหญิงงามคนหนึ่ง จึงขอดื่มน้ำ หญิงงามจึงให้ดื่มน้ำ ตรามที่ปรารถนา และได้ถามมานพน้อยว่า "เกวียนของท่านบรรทุกอะไรมากมายเหลือเกิน" มานพน้อยได้ตอบว่า "เป็นตำราเกี่ยวกับมารยาหญิงทั้งสิ้น ซึ่งฉันได้เรียนมาจนจบครบถ้วนเกี่ยวกับมารยาหญิง รู้หมดว่าหญิง นั้นมีมารยาอย่างไรบ้าง" หญิงงามจึงถามว่า "ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอทดสอบวิชาของท่านได้ไหม" มานพน้อย รีบตอบว่า "เอาเลย ไม่พรั่น" ทันใดนั้นยอดหญิงจึงร้องตะโกนสุดเสียงว่า "ว้าย ตายแล้ว ช่วยด้วยๆ" เสียง ของหญิงสาวได้ยินไปถึงหูชายฉกรรจ์ในหมู่บ้าน จึงช่วยกันถือมีดถือไม้ วิ่งมาอย่างอีกทึก ตรงมายังบ่อน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของเสียง ทำให้มานพน้อยบัณฑิตมารยาหญิง ตกใจหน้าซีดทำอะไรไม่ถูก คิดว่าคงถูกรุมตายแน่ๆ หญิงงามผู้นั้นจึงกระซิบว่า "ถ้าไม่อยากตาย รีบกระโดดลงไปในบ่อน้ำเดี๋ยวนี้" มานพน้อย รีบปฏิบัติตาม เมื่อ กลุ่มชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านมาถึงบ่อน้ำ เธอก็รีบบอกว่า "มีชายคนหนึ่ง ตกลงไปในบ่อน้ำ ช่วยเขาด้วยเถิด" เมื่อ เหตุการณ์ผ่านไปด้วยดี มานพน้อย บัณฑิตมารยาหญิงจึงตัดสินใจเผาตำราทั้งหมดและนัยว่าจะขออยู่ศึกษา เรื่องมารยาหญิงกับหญิงผู้นั้นตลอดชีวิต
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความรู้ใดๆ ในโลกนี้ไม่มีวันที่จะศึกษาเล่าเรียน ได้จบสิ้น จะต้องศึกษาไปเรื่อยๆ ความรู้ประสบการณ์ที่เคยใช้ที่หนึ่ง อาจนำไปใช้ในที่อื่นๆ ไม่ได้ ท่านที่เป็นหัวหน้าคน หรือกำลังจะเป็นหัวหน้าก็คงไม่ต้องแบกตำรามาเปิดกันให้เสียเวลา
หากท่านเป็นชาวพุทธ (หรือไม่ใช่ก็ได้) ก็ขอให้ ปฏิบัติตามหลักธรรมของพุทธศาสนาให้ได้แล้ว ท่านก็จะเป็นหัวหน้าหรือลูกพี่ที่ลูกน้องไม่ขับไล่ไสส่ง หรือขอย้าย ไปอยู่ที่อื่นให้ไกลแสนไกลจากท่าน อย่างน้อยขอให้รักษาศีล 5 ให้ได้ แล้วท่านจะไม่เป็นคนที่ โหดร้ายอำมหิต (ขาดศีลข้อ 1) ทุจริตคอรัปชั่น (ขาดศีลข้อ 2) กระสันต์สำส่อน (ขาดศีลข้อ 3) กะล่อนร้ายกาจ (ขาดศีลข้อ 4) และเป็นทาสสิ่งเสพติด (ขาดศีลข้อ 5)



ก่อนจะจบก็ใคร่ขอฝาก (กันลืม) สักนิด เพราะมีผู้บริหารจำนวนไม่น้อย (ปัจจุบันคงจะค่อย ๆ ลดลง) ที่ไม่ค่อยจะให้เกียรติลูกน้อง จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยได้ยินกับหูตัวเองบ้าง เคยได้ยินผู้ปฏิบัติงานกล่าวถึงหัวหน้าของเขาบ้าง ก็อยากจะนำมาเขียนไว้เตือนสติผู้ที่เป็นหัวหน้า หรือเจ้านาย เผื่อว่าบางที่ได้พูด หรือได้แสดงพฤติติกรรมออกไปโดยไม่ตั้งใจ หรือด้วยความปรารถนาดี แต่ถ้าเปลี่ยนการใช้ภาษาในการสื่อสารสักนิดเดียวจะดูดีกว่ามาก เช่น

"งานการนำเสนอที่ผ่านไปเมื่อสักครู่นี้ ผมเองเป็นคนเขียน Script ทิ้งไว้ และสั่งให้คุณ.......เป็นผู้เขียนโปรแกรม ระหว่างที่ไปประชุมก็โทรมากำชับอย่างแน่นหนาว่าต้องเสร็จให้ทันในวันนี้ ผมก็หวั่นใจอยู่เหมือนกันว่าจะเสร็จไม่ทัน แต่เขาก็ทำจนเสร็จ นับว่าเก่งมาก"

จากตัวอย่างนี้ ใจจริง เจ้านายคงอยากจะชมลูกน้องต่อหน้าแขกที่มาเยือน แต่ฟัง ๆ ดูก็เหมือนเอาดีเข้าตัวเอง ถ้าเปลี่ยนคำพูดสักนิดหนึ่ง เป็น "งานการนำเสนอที่ตื่นตาตื่นใจที่ผ่านไปเมื่อสักครู่นี้ เป็นฝีมือของคุณ..... นะครับ ขอเชิญโชว์ตัวหน่อยครับ ความจริงคุณ.........มีภาระงานมาก พอทราบว่าจะมีแขกสำคัญคือคณะของท่านทั้งหลายมาเยี่ยม คุณ........ก็เลยทุ่มเทเวลาเต็มที่ทั้ง ๆ ที่มีเวลาจำกัด ส่วนผมเองไม่ค่อยได้ทำอะไร เป็นแต่เพียงผู้ประสานงาน และให้ข้อมูลบางอย่างที่คุณ......ต้องการ และมัวแต่เดินทางไปประชุมที่โน่นที่นี่ ก็เลยมอบความไว้วางใจให้คุณ.......เป็นผู้ทำครับ" ถ้าเปลี่ยนเป็นพูดแบบหลังคงจะดีกว่าแบบแรก

อีกอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ การแนะนำลูกน้อง ต่อแขกที่มาเยือน หรือ เพื่อนฝูง หรือใครก็ตาม เช่น "ขอแนะนำให้รู้จักคุณ .........ครับ เขาเป็นลูกศิษย์ ของผมเอง สอนมากับมือเลยนะ ตอนนี้เรียนจบ ปริญญาโทแล้ว ก็กลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่" หรือ "ขอแนะนำให้รู้จักคุณ .........ครับ จบปริญญาโทมาหมาด ๆ ก็มาทำงานที่นี่เลย ตอนแรกไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ผมนี่แหละคอยสอน คอยแนะนำ พอเข้าปีที่ 2 ก็เก่งขึ้นอย่างที่เห็นนี่แหละ เรียกว่า ผมปั้นมากับมือเชียวนะ"

จากตัวอย่างนี้ก็เช่นกัน พูดเหมือนกับว่าโอ้อวดตนเอง อย่าทำให้ลูกน้องหรือเพื่อร่วมงานต้องเสีย Personality เลยครับ ให้เขามีความมั่นใจ มีความสง่างามด้วยตัวเขาเอง และ เกิดความรู้สึกที่ดีต่อเจ้านายของเขาดีกว่าครับ
สุดท้ายขอฝากข้อคิดสำหรับทุกท่าน ที่มีลูกน้องว่า

"ใช้พระคุณแทนพระเดชวิเศษนัก คนจะรักเคารพสยบหัว ใช้พระเดชมากล้นจนเกินตัวถึงเขากลัวแต่ไม่เกรงสักเพลงเดียว"

1 ความคิดเห็น:

XXXX YYYY กล่าวว่า...

กอปไปให้นายอ่าน