วันจันทร์, พฤศจิกายน 12, 2550

สีชมพู

ทักษาปกรณ์ ศาสตร์แห่งราชสำนัก ย้อมใจไทยเป็นสีชมพู

าพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สีชมพูสดใส เสด็จพระราชดำเนินออกจากโรงพยาบาลศิริราชกลับสู่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ด้วยพระพักตร์ที่แจ่มใส ทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์ต่อพสกนิกรของพระองค์ ที่เฝ้ารับเสด็จตั้งแต่ในโรงพยาบาลและตลอดสองข้างทางที่เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนงนั้น ได้สร้างความปีติและประทับใจแก่ปวงชนชาวไทยอย่างเหลือล้นมิรู้ลืม

สีชมพูนี้ เป็นสีที่นายสุเมธ พุฒพวง นักวิชาการช่างศิลป์ 7 กลุ่มงานศิลปะประยุกต์กลุ่มจิตรกรรมศิลปะประยุกต์และลายรดน้ำ ผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ 80 พรรษา ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ได้นำแพรแถบสีชมพูมาประดับไว้ในตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 2550 โดยสีชมพูตามความหมายของตราสัญลักษณ์นี้ หมายถึง สีอายุตามโหรา ศาสตร์ทักษาพยากรณ์ ซึ่งตรงกับวันอังคารของพระองค์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์ สีชมพูเป็นสีประจำอายุตามหลักโหราศาสตร์ไทย หมายถึงการ มีสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์

นั่นคือคำอธิบายความสำคัญของสีชมพู

แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบ หรือไม่รู้อย่างแท้จริงว่า “ทักษา” คืออะไร มีที่มาอย่างไร

ในบรรดาองค์ความรู้ด้านมงคลพิธีและโหรา ศาสตร์ของไทยที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้น จะว่าไปแล้วมีรากฐานมาจากที่อื่นเสียมาก ไม่ว่าจะเป็นฮินดู พม่า มอญ หรือขอม แม้แต่ดวงจักรราศีถือเป็นเพชรชิ้นเอกแห่งโหราศาสตร์ไทยก็มีรากฐานมาจากโหราศาสตร์ฮินดู แต่ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยจริงๆ ก็ดูจะมีเรื่องทักษาพยากรณ์นี่เองที่เป็นของไทยแท้ แต่ถึงกระนั้นการสร้างบ้านแปลงเมืองของบรรพบุรุษไทยให้เจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็ล้วนแต่พึ่งพาหลักทักษาปกรณ์ทั้งสิ้น

บางคนยังเข้าใจว่าทักษาของไทยตกทอดมาจากฮินดูเช่นกัน เพราะทางฮินดูมีศาสตร์เรื่อง “ทศา” หรือ Dasha ซึ่งทางโหราศาสตร์ไทยก็นำมาใช้ในเรื่องดาวเสวยอายุ และเรียกกันว่า “มหาทักษา” ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ “ทักษา” แท้ๆ ของไทย

ระบบทักษาไทยนั้นหมายถึงการไล่วันทั้งเจ็ดทาง ทักษิณาวัตร คือเวียนขวาไปตามผังดาวทักษา (ดูรูปประกอบ) เพื่อจะรู้ว่าวันใด ดีหรือไม่ดีสำหรับตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ แทนด้วย ๑ จันทร์ ๒ เวียนไปจนถึงศุกร์ ๖ และตำแหน่งของแต่ละวันจะมีความหมายต่างกันไป เริ่มจาก บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี และกาลกิณี หากเกิดวันไหนก็เริ่มนับวันนั้นเป็นภูมิบริวาร เช่นเกิดวันพุธ นับ ๔ เป็นบริวาร เสาร์ (๗) เป็นอายุ พฤหัสฯ (๕) เป็น เดช เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์ (๒) จึงทรงมีดาวอังคาร (๓) เป็นดาวอายุ ซึ่งหมายถึงพระสุขภาพ พลานามัย สีของอังคารคือสีชมพู ดังนั้นในทางทักษาสีชมพูจึงส่งเสริมพระสุขภาพพลานามัยของพระองค์ ส่วนสีเหลืองนั้นเป็นสีประจำพระองค์เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพในวันจันทร์

หลักทักษานี้มีความเป็นมายาวนานเพียงใดไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ตามคำบรรยายของ พ.อ.เอื้อน มนเทียรทอง โหราจารย์ใหญ่คนหนึ่งของไทยในคัมภีร์โหราศาสตร์ศิวาคม ระบุว่า ทักษาพยากรณ์ทรงพระนิพนธ์โดยสมเด็จพระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช หรือ พระเจ้าลือไทย (พระเจ้าลิไทย) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย มหาปราชญ์ผู้ทรงพระนิพนธ์ “ไตรภูมิพระร่วง” โดยคัมภีร์ทักษาปกรณ์ที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์นั้นเป็นภาษาบาลี ชื่อว่า “ทักษสังคหปกรณ์”

ต่อมาสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี สมเด็จพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงถอดความภาษาบาลีเป็นภาษาไทยเป็นลิลิต “ลิลิตทักษาพยากรณ์” ซึ่งปัจจุบันต้นฉบับสมุดไทยดำและสมุดไทยขาวของลิลิตนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

ระบบทักษานี้ถือได้ว่าเป็นแม่บทที่ครอบคลุมพิธีกรรมและการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ในบ้านเมืองมาช้านาน ซึ่งเดิมใช้กันในราชสำนักเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดทำเลตั้งเมือง การวางดวงเมือง การวางฤกษ์ขึ้นครองราชย์ และวางฤกษ์พิธีกรรมต่างๆ การตั้งชื่อเจ้านาย การกำหนดยุทธวิธีในตำราพิไชยสงคราม การเคลื่อนทัพ ตั้งทัพ และการคัดเลือกแม่ทัพนายกอง

เนื่องด้วยหลักทักษาครอบคลุมหลักเกณฑ์สำคัญในการดำรงชีวิตอย่างกว้างขวาง เช่น ทิศ ธาตุ ตัวอักษร สี ชัยภูมิ การวางฤกษ์ อายุพระเคราะห์ ทักษาจึงเริ่มเผยแพร่ออกสู่สามัญชนซึ่งนำปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้กลมกลืน

ดังนั้นทักษาจึงเป็นที่ยกย่องมากในอดีต แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนไทยในปัจจุบันละทิ้งหลักเกณฑ์ของทักษาไปเสียมากด้วยอาจเห็นว่าเป็นเรื่องงมงาย ส่วนโหรไทยเองก็มีไม่น้อยที่ทิ้งเรื่องทักษาไป ด้วยเพราะหลักเกณฑ์บางส่วนสืบทอดกันมาอย่างตกหล่นจนโหรในปัจจุบันถกเถียงกันไม่ได้มติ หรือบางส่วนนำทักษาไปใช้อย่างไม่รู้จริงทำให้ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่จึงหันไปหาศาสตร์สากลต่างๆ แทน ทั้งที่เรื่องทักษานี้เป็นคัมภีร์แม่บทที่ครอบคลุมโหราศาสตร์ไทยไว้อย่างลึกซึ้งกว้างขวางดังที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน “ลิลิตทักษาพยากรณ์” ว่า

คัมภีร์คำพิทยพร้อง พรตพรหม

คือชาติทักษาสยัม พากย์พี้

พิศาลแสดงคัม ภีรภาพ

ตำรับในนิตินี้ กว่ากว้างพิสดาร


http://66.102.9.104/search?q=cache:hDvjarR6CIEJ:www.posttoday.com/newsdet.php%3Fsec%3Dnews%26id%3D202836+%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C&hl=th&ct=clnk&cd=1&gl=th&client=firefox-a

11 ความคิดเห็น:

nantiya r กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะครูเม้ง

nantiya r กล่าวว่า...

พรุ่งนี้เค้าจาใส่สีชมพู ด้วยล่ะ

oO JM Oo กล่าวว่า...

เห็นภาพแล้วน้ำตาจะไหล...พรุ่งนี้ก็จะใช้สีชมพูเหมือนกัน

ส่วนวันนี้ใส่สีเหลือง อิอิ

namb nam กล่าวว่า...

---จาใส่สีชมพูเหมือนกานงับบบบ---เอิ้กๆๆๆ

Peem & Pooh กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ อ่านแล้วเข้าใจความหมายที่แท้จริงแล้ว พรุ่งนี้วันอังคารใส่ชมพูมาทำงานก็ดีเหมือนกันนะ

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

ผมก้อใส่สีชมพูด้วยคน ร่วมด้วยช่วยกาน

eBeauty ^_- กล่าวว่า...

แป๋วก็สั่งเสื้อผ้าสีชมพูไว้อีกหนึ่งล็อตแล้ว กะลังจะได้เร็วๆนี้ อิอิ ดีใจ

我 ... กล่าวว่า...

ขอบคุณคะ เข้าใจมากขึ้นเลยคะ

Moowan a little girl กล่าวว่า...

เอาเสื้อมหา'ลัยมาใส่ดีก่า อิอิ

จางานบอลแย๊วๆๆๆ

C's SAJI_JI กล่าวว่า...

ขอบคุณคะ วันนี้ก็ใส่สีชมพูอ่ะ

phyche phyche123 กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้ ชมพูๆเปนสีโปรดด้วย