วันเสาร์, ธันวาคม 10, 2548

โฟกัสภาพ อย่างไรให้ โดน


ตั้งใจเขียนมาให้อ่านกันครับ
เป็นเหมือนสรุปความรู้ ที่อ่านผ่านๆตามาจากหลายที่ รวมถึงที่เคยลองทำด้วย
จะไม่มีรูปนะครับ เน้นอ่านแล้วจินตนาการตาม


เริ่มจากปรับตั้งค่าที่ตัวกล้อง



1. ปรับจากโฟกัสหลายจุดเป็นโฟกัสจุดเดียวตรงกลาง เพื่อความแม่นยำในการเล็งกำหนดจุดโฟกัส

ข้อดี กำหนดได้ชัดเจนว่าจะโฟกัสตรงไหน ไม่งั้นกล้องจะเลือกเองตามใจชอบ ซึ่งอาจไม่ใช่ที่ที่เราชอบ

ข้อเสีย ถ้าจะถ่ายภาพแบบให้จุดโฟกัสไม่อยู่กึ่งกลาง หลังจากเล็งโฟกัสแล้วต้องขยับหน้ากล้อง ให้ได้ตำแหน่งภาพ ตรงจุดนี้อาจทำให้หลุดโฟกัสได้

ปกติแล้ว ผมจะปรับตั้งให้เป็นโฟกัสจุดเดียวตรงกลาง ในโหมด P ส่วนเมื่ออยากใช้โฟกัสหลายจุด ก็ปรับไปใช้โหมด ออโต้ กล้องก็จะใช้ระบบโฟกัสหลายจุดมาแทน ให้เลยโดยอัตโนมัติ





2.อย่าลืม กดตั้งถ่ายมาโคร เมื่ออยู่ในระยะมาโคร ไม่งั้นจะโฟกัสไม่ได้
ระยะมาโครมีสองแบบ
แบบไม่ซูมเลย ก็สามารถจ่อกล้องเข้าไปใกล้ตัวแบบได้ในระยะ 1-10 เซนติเมตร แล้วแต่รุ่น
แบบซูมเต็มที่ แม้กดมาโครแล้ว ก็ต้องทิ้งช่วงห่างจากแบบไปสักช่วงหนึ่ง อาจจะ 30-40 เซน แล้วแต่รุ่น





3. ถ้าโฟกัสอย่างไร กล้องก้อยังจับไม่ได้สักที ลองแมนนวลโฟกัสดูครับ

แมนนวลแบบง่าย
ถ้าเน้นถ่ายใกล้คือ สั่งกล้องให้แมนนวลโฟกัสให้ใกล้สุด เช่น 5 เซนติเมตร แล้วใช้วิธีขยับกล้องเข้าหาตัวแบบแล้วมองผ่านแอลซีดีหาจังหวะที่ชัดที่สุด ให้ถ่ายเผื่อๆมาเยอะหน่อยครับ แอลซีดีอาจหลอกตาเราได้

ถ้าเน้นถ่ายไกล เช่นฟ้าสีฟ้า ก็แมนนวลให้เป็น โฟกัสอินฟินิตี้ไปสะ




4. โฟกัสแบบไม่ต้องโฟกัส ใช้สำหรับกล้องที่มีโหมดตั้งค่า custom ตามใจฉัน

ผมเรียกว่ากล้องทันใจใช้ในกรณี ถ่ายในที่มืดแสงน้อย (ใช้แฟลช) รึถ่ายภาพเหตุการณ์ ฉับไว ชนิดที่รอให้กล้องล้อคโฟกัสไม่ไหว

เคล็ดลับก็คือ ตั้งล้อคค่า โฟกัสไว้ที่ค่าคงที่ประมาณ 2.59 เมตร โดยตั้งค่าซูมไว้กว้างสุด
ผลที่ได้คือ ระยะโฟกัสที่ภาพออกมาแล้ว "พอรับได้" จะครอบคลุมตั้งแต่ช่วง 1.5 เมตร ไปถึง อินฟินิตี้

เรียกว่า เปิดกล้องปุ้บ ยกถ่ายปั้บๆๆๆ





5. จะรู้ได้อย่างไร ว่ากล้องโฟกัสได้แล้ว

1. ใช้ตามอง ว่าช่องโฟกัสสี่เหลี่ยม มันขึ้นสีเขียวไหม (เฉพาะรุ่น)
2. ใช้ตามอง ว่าส่วนที่เน้น เช่น เกสร ชัดหรือไม่ เพราะส่วนมากโฟกัสไปตกข้างหลังเป็นส่วนใหญ่
3. ใช้หูฟัง เสียงโฟกัสได้ กับไม่ได้ มันแตกต่างกันลองใช้หูช่วยในการโฟกัสได้ครับ โดยเฉพาะเมื่อถ่ายกลางแดดเปรี้ยงๆ จอแอลซีดีมองลำบาก





6. แบบสีแบบไหนโฟกัสยาก และสีแบบไหนโฟกัสง่าย

แบบที่โฟกัสง่าย คือแบบที่มีความแตกต่างของสีหรือแสงชัดเจนเช่น ขาวกับดำ
ถ้าตัวแบบมี สี เดียวกลืนๆกันไป จะโฟกัสยากพอสมควร รึไม่ได้เลย
สีบางสีทำเอากล้องผม หลงโฟกัสไปเลย เช่น เหลือง แดง เป็นต้น

อย่างบางทีผมยกกล้องขึ้นถ่ายฟ้าโปร่งๆ ปรากฏว่า มันจับโฟกัสไม่ได้แฮะ เพราะฟ้าโปร่งเกินไปไม่มีสีที่ตัดกัน ทางแก้คือเล็งหาก้อนเมฆพอโฟกัสได้แล้วค่อยมาจัดมุมอีกที





7. รู้ไหมว่า เซนซอร์โฟกัสของกล้อง ชอบรูปทรงแบบไหน

ไปอ่านที่ไหนมาสักที่ เค้าบอกว่ากล้องดิจิตอลนี่อะ ชอบตัวแบบที่เป็น "เส้นตรง แนวตั้ง"
ยกตัวอย่างเช่น ลายของบาร์โค้ด กล้องจะชอบมากเพราะโฟกัสง่าย
บางเวปแนะนำถึงขนาดที่ให้ตัดบาร์โค้ดชิ้นเล็กๆติดกระเป๋ากล้องไว้
เวลาจะโฟกัสดอกไม้ แล้วโฟไม่ได้สักที ให้ถือบาร์โค้ด ไปวางเทียบ พอล้อคโฟกัสได้แล้วก้อเอาออก

เรื่อง กล้องดิจิตอลชอบตัวแบบที่เป็น "เส้นตรง แนวตั้ง" ผมเคยลองแล้วรู้สึกว่าจริงแฮะ ยกตัวอย่างเส้นขอบฟ้ารึอะไรสักอย่างที่เป็นเส้นแนวนอน บางทีโฟกัสยาก ผมก็จับกล้องหมุน 90 องศา ลองโฟกัสดู ปรากฏว่าได้แฮะ พอโฟกัสได้แล้ว ค่อยหมุนมาแนวเดิม





8. หลังรก โฟกัสยาก
ปัญหาที่พบอย่างนึงเวลาจ่อกล้องเข้าไปโฟกัสดอกไม้เล็กๆ ในดงไม้ ที่มีฉากหลังรกๆรึเขียวพรืดไปด้วยหญ้า คือ กล้องไปตกโฟกัสที่หลังรกๆแทน
ทางหลีกเลี่ยงอย่างกำปั้นทุบดิน คือ
- เปลี่ยนมุมกล้อง หาที่ๆ หลังไม่รก จุดโฟกัสจะได้ชัดเจน
- หมุนกล้อง หาสิ่งที่ เป็นเส้นตรงแนวตั้งให้กับกล้อง
- หาตัวแบบ ใกล้เคียงเพื่อใช้ล้อคโฟกัส แล้วค่อยกลับมาที่แบบ
- ใช้ ตัวช่วย บาร์โค้ด ชิ้นเล็กๆ
- แมนนวล โฟกัส ขยับเข้าๆออกๆ จนกว่าจะหนำใจ
- เนรมิตฉากหลัง เช่น เอาสมุดสีดำ ไปถือบังฉากหลังรกๆ
- ฉกตัวแบบออกมา เอามือจับตัวแบบ ดึงออกมาถ่ายที่ฉากหลังไม่รก ถ่ายเสร็จ ปล่อยเด้งกลับไปที่เดิม
- อื่นๆ ตามแต่จะจินตนาการ





9. ข้อสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เผื่อนึกอะไรออก
หลายครั้ง ที่เราโฟกัสว่าชัวส์ กลับมาเปิดกล้องดูแล้วพลาด พลาดทั้งรูปถ่าย เพราะโฟกัสผิดจุด หลุดโฟกัส และพลาดทั้งโอกาส ผ่านเลยไปแล้วไม่หวนกลับคืน

ดังนั้น อย่าประหยัดภาพถ่ายนะครับ (ดิจิตอล) มุมเดิมยิงไปเถอะ 4 -5 รูป เปลี่ยนมุม นิดนึงยิงไปอีก 4-5 รูป รวมแล้วเป็น 10-20 รูป

มันต้องมีสักรูปสิน่า ที่เข้าตากรรมการ เอ้ย ที่โฟกัสได้ถูกที่ถูกทาง ครับ ถ้ามีเวลามากพอ ถ่ายรูปเสร็จก็เช็ครูปดูตรงนั้นเลย จะได้ถ่ายซ่อมได้ทันทีครับ





10. ว่าแล้วว่า ลืมอะไร ข้อนี้ก็สำคัญครับ คือโฟกัสระยะได้แล้ว ต้องหยุดภาพให้นิ่งให้ได้ครับ เพราะภาพที่โฟกัสได้แต่ถ่ายออกมาเบลอเพราะ ภาพไม่นิ่ง ค่าก็เท่ากันกับหลุดโฟกัส

ทางที่พอแนะนำคือ
- ใช้ขาตั้งกล้อง (ส่วนมากไม่ต้องใช้)
- ตั้งค่า TV ความไวชัตเตอร์ ไว้ให้อย่าต่ำมากไป (ภาพที่มืด แก้ไขภาพได้ง่ายกว่าภาพที่ไหว นะครับ)
- ถ้าถ่ายโหมด p เป็นประจำ ลองตั้งชดชเยแสง ให้อันเดอร์สัก สองสต้อป -2/3 กล้องจะปรับค่าให้ไวขึ้นโดยอัตโนมัติและได้รายละเอียดภาพดีด้วย





11. แย๊บแล้วฟุตเวิค์กถอย เอ้ยไม่ใช่สิ โฟกัสแล้วถอย ตังหาก

อันนี้มักใช้เวลาถ่ายดอกไม้แล้วจะเน้นที่เกสรดอกไม้ หากเป็นเกสรสั้นๆ เล็กๆ บางๆ กล้องจะจับโฟกัสได้ยากมาก ส่วนมากโฟกัสจะไปตกอยู่ที่เงามืด รึ ลวดลายบนกลีบดอกแทน
พอถ่ายมา กลีบดอกก็ปรากฏลวดลายชัดสวยงาม แต่เกสรเบลอเล็กน้อยแต่พองาม

วิธีแก้ไข แบบลูกทุ่งก็คือ
1.ประมาณการระยะห่างของยอดเกสรกับกลีบดอก ที่จะเป็นฉากหลัง
2.โฟกัสให้แน่ใจว่าตกไปที่กลีบดอก หลังเกสร
3.เขยิบ กล้อง ถอยหลังออกมาเท่ากับ ระยะห่างของข้อ 1 (ยากหน่อย ประมาณ 1 จึ้ก)
4.กดชัตเตอร์แผ่วเบา
5.ลองใหม่อีกครั้งหนึ่ง วนจากข้อ1ยันข้อ4 จนกว่าจะพอแก่อำเภอใจ
6.รอคอยชมผลงานตัวเอง และจดจำระยะ 1 จึ้ก ไว้ให้ดี




12. โฟกัส แบบตีวัวกระทบชิ่งไปที่คราด ภาษาสนุกเกอร์เรียกว่าใช้บ๋อย

อันนี้หมายถึง โฟกัสไปที่ๆหนึ่ง เพื่อให้ที่นั้นสะท้อนภาพของแบบที่เราต้องการ เช่นโฟกัส กระจก ผิวน้ำ โลหะมันวาว หรือตาคน

อันนี้ผมมีสองแนวคิด ยังไม่มั่นใจ
แนวคิดที่ 1 ผมจะไม่ใช้โหมดมาโคร เพราะผมคิดว่าตัวแบบนั้นอยู่ไกลมาก เพียงแค่อาศัยการสะท้อนภาพมาที่กล้องเท่านั้น

แนวคิดที่ 2 คือใช้โหมดมาโคร เพราะสิ่งที่ผมจะดูนั้นอยู่ใกล้กล้อง เลยต้องใช้มาโคร (แล้วแบบมันจะชัดได้ไงฟระ งง)

สรุปว่า ไม่สรุป เอาเป็นว่าผมก็ใช้มาโครทุกที แต่ผมว่าแนวคิดที่ 1 ไม่น่าจะผิด เอาไว้ไปลองมาได้ผลจะบอก




13.กำหนดพื้นที่โฟกัส ให้แคบๆหรือกว้างๆ

อธิบายง่ายๆสมมุติว่า กล้องตั้งที่จุด 0 โฟกัสไปที่ เลข5ที่อยู่กลางแถวตัวเลขนี้ 1-10 (ลองจินตนาว่า เลข5คือเกสร เลข 1 2 8 9 คือกลีบดอก)

0.........1 2 3 4 5 6 7 8 9

ถ้าเราอยากโฟกัสให้ชัด ที่ 5 แต่เลขอื่นเบลอๆ ก็ปรับค่ารูรับแสง (โหมดAV) ให้กว้างๆ เช่น f 2.8

ถ้าเราอยากโฟกัสให้ชัด ที่ 5 และเลข 1-9 ก็ชัดด้วย ก็ปรับค่ารูรับแสง (โหมดAV) ให้แคบๆ เช่น f 8 หรือ 11

ค่าF จริงๆแล้ว มันเป็นเลขเศษส่วนนะคือ 1/2.8 1/8 ดังนั้นตัวเลขยิ่งมากค่ายิ่งน้อย (รูแคบ) แต่เวลามาใส่กล้องเค้าเอาเลขเศษออกไป




14.ทำความรู้จักกล้องตัวเองครับ

หลังจากลองภาคทฤษฎีและเทคนิคต่างๆไปแล้ว
ที่เหลือก็คือทำความรู้จักกล้องตัวเอง ลองถ่ายและจดจำว่ากล้องชอบแบบไหนถึงจะโฟกัสได้

ยกตัวอย่างเช่นกล้องผม เวลาโฟกัสมันจะมีกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆให้เล็ง แต่ปรากฏว่าภายใต้กรอบเดียวกันนี้ มุมแต่ละมุมจะมีความไวต่อการโฟกัสไม่เท่ากัน ถ่ายๆไปผมก็จะรู้ว่า มุมซ้ายล่างโฟกัสง่ายสุด ทีนี้พอจะโฟกัสอะไรที่เล็กๆ ผมก็เอามาไว้ตรงมุมนิยม มันก็โฟกัสได้ง่ายขึ้นครับ

ลองหามุมนิยมของกล้องคุณดูสิว่าอยู่มุมไหน


15.โฟกัสทีละหลายๆภาพ

ปัญหาอย่างนึงของกล้องออโต้โฟกัสที่โฟกัสยากคือ
ถ่ายไปทีนึงก็ต้องโฟกัสใหม่ครั้งนึง ถ้าหากว่าตัวแบบอยู่นิ่งๆก็ดีไป เผลอๆอาจใช้วิธีล้อคโฟกัสไปเลย

แต่ถ้าเป็นตัวแบบที่ไม่ค่อยนิ่ง หรือเป็นลักษณะเหตุการณ์ต่อเนื่อง การมามัวหาโฟกัสแต่ละครั้งอาจไม่ทันกิน

ทางแก้ก็คือการใช้โหมดการถ่ายรูปแบบต่อเนื่องครับ
ในโหมดนี้ให้กดชัตเตอร์ค้างไว้กล้องจะถ่ายไปเรื่อยๆ แชะๆๆ ตามความเร็วของโหมดกล้อง และตามจำนวนแชะที่กล้องกำหนดไว้

ข้อดีข้างเคียงของการใช้โหมดนี้คือ ลดการสั่นไหวอันเกิดจากนิ้วกดชัตเตอร์ เพราะแชะที่2 3 4 มันเกิดเอง

นั่นคือเหตุใดจึงเรียกว่าโฟกัสทีละหลายๆรูป เพราะโฟครั้งเดียวได้หลายรูปนั่นเอง




by Meng



10 ความคิดเห็น:

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

15.โฟกัสทีละหลายๆภาพ

ปัญหาอย่างนึงของกล้องออโต้โฟกัสที่โฟกัสยากคือ
ถ่ายไปทีนึงก็ต้องโฟกัสใหม่ครั้งนึง ถ้าหากว่าตัวแบบอยู่นิ่งๆก็ดีไป เผลอๆอาจใช้วิธีล้อคโฟกัสไปเลย

แต่ถ้าเป็นตัวแบบที่ไม่ค่อยนิ่ง หรือเป็นลักษณะเหตุการณ์ต่อเนื่อง การมามัวหาโฟกัสแต่ละครั้งอาจไม่ทันกิน

ทางแก้ก็คือการใช้โหมดการถ่ายรูปแบบต่อเนื่องครับ
ในโหมดนี้ให้กดชัตเตอร์ค้างไว้กล้องจะถ่ายไปเรื่อยๆ แชะๆๆ ตามความเร็วของโหมดกล้อง และตามจำนวนแชะที่กล้องกำหนดไว้

ข้อดีข้างเคียงของการใช้โหมดนี้คือ ลดการสั่นไหวอันเกิดจากนิ้วกดชัตเตอร์ เพราะแชะที่2 3 4 มันเกิดเอง

นั่นคือเหตุใดจึงเรียกว่าโฟกัสทีละหลายๆรูป เพราะโฟครั้งเดียวได้หลายรูปนั่นเอง

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

15.โฟกัสทีละหลายๆภาพ

ปัญหาอย่างนึงของกล้องออโต้โฟกัสที่โฟกัสยากคือ
ถ่ายไปทีนึงก็ต้องโฟกัสใหม่ครั้งนึง ถ้าหากว่าตัวแบบอยู่นิ่งๆก็ดีไป เผลอๆอาจใช้วิธีล้อคโฟกัสไปเลย

แต่ถ้าเป็นตัวแบบที่ไม่ค่อยนิ่ง หรือเป็นลักษณะเหตุการณ์ต่อเนื่อง การมามัวหาโฟกัสแต่ละครั้งอาจไม่ทันกิน

ทางแก้ก็คือการใช้โหมดการถ่ายรูปแบบต่อเนื่องครับ
ในโหมดนี้ให้กดชัตเตอร์ค้างไว้กล้องจะถ่ายไปเรื่อยๆ แชะๆๆ ตามความเร็วของโหมดกล้อง และตามจำนวนแชะที่กล้องกำหนดไว้

ข้อดีข้างเคียงของการใช้โหมดนี้คือ ลดการสั่นไหวอันเกิดจากนิ้วกดชัตเตอร์ เพราะแชะที่2 3 4 มันเกิดเอง

นั่นคือเหตุใดจึงเรียกว่าโฟกัสทีละหลายๆรูป เพราะโฟครั้งเดียวได้หลายรูปนั่นเอง

Panida M กล่าวว่า...

อืม อ่านแล้วได้ประโยชน์มากๆเรย ขอบคุณนะคะที่แบ่งปันความรู้ ^ ^

Nu Gade ... กล่าวว่า...

โอ้โหห ยาวมากกก ไว้เด๋วมาอ่านต่อนะคะ

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

อ่านวันละ 1 ข้อจิ

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

ดีจังเยย ใช้ประโยชน์ได้

DSci . กล่าวว่า...

โอ้ว... ขอบคุณครับ...
ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้กันไป...

nuchsara j กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ คุณเม้ง

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

: )

Don Khanarat กล่าวว่า...

ได้ความรู้อีกแล้ว ขอบคุณคร้าบบบ