วันอังคาร, มีนาคม 02, 2553

คนมีโชคเพราะโชคดีหรือ

คนมีโชคเพราะโชคดีหรือ

โดย วรากรณ์ สามโกเศศ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เวลา 14:59:01 น.  มติชนออนไลน์

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1267171166&grpid=&catid=02

คนทั่วไปในโลกโดยเฉพาะคนไทยเชื่อว่าความมีโชคเป็นเรื่องที่เหนือคำอธิบาย กรรมในชาติที่แล้วมีส่วนร่วมกำหนดโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีบทบาทสำคัญการช่วยให้โชคดีด้วย เช่น ถูกหวยเล่นการพนันได้ ฯลฯ หากเป็นนักแสดง นักกีฬาก็ดังขึ้นมาแบบระเบิด ฯลฯ


อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการฝรั่งอธิบายเรื่องความโชคดีไว้อย่างน่าสนใจ และให้ความอุ่นใจในระดับหนึ่งว่าความมีโชคนั้นสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบุคลิกอุปนิสัย


ศาสตราจารย์ Richard Wiseman แห่งมหาวิทยาลัย University of Hertfordshire (บางคนอาจจำชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกันกับที่จัดประกวดเรื่องตลกที่สุดในโลกบนเว็บเมื่อ 3-4 ปีก่อน) ในหนังสือชื่อ The Survivors Club (2009)เล่าเรื่องการทดลองและข้อสรุปที่ช่วยทำให้เข้าใจเรื่องความมีโชคมากขึ้น


การทดลองใช้คนจำนวนมากทั้งหญิงชายแข่งกันนับรูปภาพในหนังสือพิมพ์ บางคนนับเสร็จใน 2-3 วินาที บางคนนับเป็นนาที


สาเหตุที่บางคนนับไม่กี่วินาทีก็เสร็จ ไม่ใช่เพราะมีความสามารถในการนับเป็นเลิศ หาก Dr.Wiseman สอดแทรกข้อความด้วยตัวหนังสือขนาดใหญ่ไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า "หยุดนับได้ ทั้งเล่มมี 43 รูป" และในอีกหน้าต่อมาก็มีข้อความตัวใหญ่ไว้อีกเช่นกันว่า "หยุดนับได้ และรีบไปบอกคนทดลองว่าพบข้อความนี้แล้ว และท่านจะได้เงิน 250 เหรียญ"


สิ่งไม่น่าเชื่อก็คือมีผู้ทดลองจำนวนไม่มากนักเท่านั้นที่เห็นสองข้อความนี้ระหว่างการนับกลุ่มที่พลาดมองไม่เห็นคือพวกเคร่งเครียดและจริงจังกับการนับมากจนมองไม่เห็นสองข้อความนั้นที่ไม่น่าจะมองข้ามไปได้


Dr.Wiseman สรุปว่าคนที่เห็นข้อความที่ให้หยุดนับทันที มีทางโน้มที่จะเป็นคนมีโชคเพราะเป็นคนเปิดกว้างต่อโอกาสรอบตัวที่อาจมาถึงแบบ Random


ส่วนคนที่มองไม่เห็นมีทางโน้มที่จะเป็นคนไม่มีโชค เพราะไม่สามารถคว้าโอกาสที่เปิดกว้างให้ตนได้


Dr.Wiseman สรุปว่าสำหรับบางคนนั้น แม้แต่ทำงานอื่นอยู่ก็ยังเปิดกว้างสำหรับโอกาสอื่นๆ ที่จะเข้ามาหาตนเอง นั้นคือเหตุผลสำคัญซึ่งอธิบายว่าเหตุใดสิ่งดีๆ จึงมักเกิดขึ้นกับคนเดิมเสมอในชีวิตประจำวันและในสถานการณ์ที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์อันตราย


ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียกกันว่าโชค


คนสองคนพักในโรงแรมห้องติดกัน คนหนึ่งเสียชีวิตจากไฟไหม้ แต่อีกคน "โชคดี" รอดมาได้ คนทั่วไปอาจมองว่าคนหลังโชคช่วยทำให้รอดมาได้ แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นว่าเป็นคนระแวดระวัง สังเกตอ่านผังทางหนีไฟของโรงแรมเสมอ ศึกษาข้อมูลเรื่องทำตัวระหว่างไฟไหม้อย่างไร จึงทำให้รอดมาได้ ไม่ใช่เพราะโชคแต่เป็นเพราะเป็นคนเปิดกว้างต่อข้อมูลและโลกอยู่เสมอ


นักจิตวิทยาเรียกสิ่งที่ Dr.Wiseman พยายามทดลองนี้ว่า Inattentional blindness (การตาบอดอันเกิดจากการไม่ให้ความใส่ใจ) ซึ่งหมายถึงว่าไม่สังเกตเห็นสิ่งต่างๆ เมื่อไม่ได้ให้ความใส่ใจอย่างแท้จริงๆ


ตัวอย่างเช่นเราจมลึกอยู่ในบางอารมณ์จนไม่ได้ยินเสียงหรือตระหนักถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว (มนุษย์ประเภทหูถูกเสียบอยู่ตลอดเวลาต้องระวังเป็นพิเศษจากอันตรายรอบตัว เช่น ถูกรถชน) เราดูโทรทัศน์โดยไม่เห็นภาพสะท้อนบนกระจกจอทีวี การสอนหรืออบรมแบบ "ฟังแต่ไม่ได้ยิน" หรือหนักๆ ก็คือ "เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา"


Dr.Wiseman เชื่อว่านอกจากการมีชีวิตรอดจากรถที่วิ่งผ่านแยกไฟแดงเกือบชนรถตัวเองหรือสังเกตเห็นข้อความแทรกในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นคำอธิบายนั่นก็คือ Neuroticism หรือแบบแผนของบุคลิกภาพ(personality trait) ของคนซึ่งทำให้โน้มเอียงไปทางการเป็นคนเครียด ร้อนรนกระวนกระวายและอ่อนไหวง่ายต่อความเครียด


คนที่เข้าข่ายมีดีกรีของ neuroticism สูง จะจริงจังเคร่งเครียด และเข้มข้นกับสิ่งที่ตนเองทำจนมองข้ามโอกาสที่เกิดขึ้นรอบตัวจึงมีทางโน้มที่จะเป็นคนขาดโชค


ในทางตรงกันข้ามคนที่มีดีกรี neuroticism ต่ำจะเยือกเย็นกว่า มีอารมณ์ผ่อนคลาย ไม่หวือหวา และอ่อนไหวต่อความเครียดน้อยกว่า จะไม่ทำงานด้วยความเครียดและกระวนกระวายเท่า


กลุ่มคนนี้จะเปิดตัวต่อความเป็นไปได้ต่างๆ ในชีวิตมากกว่า จึงเป็นคนชนิดที่เรียกว่ามีโชคอยู่เสมอ


Dr.Wiseman ต้องการศึกษาลึกกว่านี้ในเรื่องการมีโชคและไม่มีโชค โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้ จากการทดลองอีกหลายลักษณะข้ามเวลา 10ปี ก็ได้ข้อสรุป ข้อดังต่อไปนี้ว่าเหตุใดสิ่งดีๆ จึงมักเกิดขึ้นกับคนเดิมเสมอ


ประการแรก คนโชคดีอยู่ในสภาพจิตใจที่ผ่อนคลายกับชีวิตโดยตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่เสมอ พวกเขาจะมองเห็นโอกาส (เพราะมองหาโอกาสอยู่แล้วด้วยการเปิดใจและเปิดโอกาสให้สิ่งเหล่านั้นเข้าหาตัวเขาได้ ตัวอย่างเช่น คนพบเงินตกบนถนนอยู่บ่อยนั้นเป็นเพราะเป็นคนช่างสังเกตหรือมองหาโอกาสจึงเห็นเงินที่ตกอยู่) ที่คนอื่นมองไม่เห็น มักเป็นกลุ่มคนที่ชอบสังคมมีเพื่อนฝูงมาก


ประการที่สอง คนโชคดีเชื่อในสัญชาตญาณของตนเองและมีการตัดสินใจที่ดีโดยไม่รู้ว่าทำไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น คนโชคไม่ดีจะไว้ใจคนผิดและมักตัดสินใจผิดอยู่บ่อยๆ จากการสังเกตกลุ่มคนโชคดีพบว่าคนกลุ่มนี้อาศัยความรู้สึกข้างในของตนเองมากกว่ากลุ่มไม่มีโชคอย่างเห็นได้ชัด


ตัวอย่างเช่น หญิงคนหนึ่งสงสัยคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ตามหลังตอนกลางคืนจะเป็นคนร้าย จึงระวังตัวและจอดให้รถผ่านไป สองวันต่อมาตำรวจเรียกรถคันนี้จอดและชายคนนี้ก็ยิงตำรวจตาย


มองเผินๆ อาจเห็นว่าเธอโชคดี แต่แท้จริงแล้วเธออาศัยความรู้สึกข้างในบอกเธอให้ระวังตัว


ประการที่สาม คนโชคดีมองโลกในแง่ดีเสมอ มักบากบั่นต่อสู้เมื่อล้มเหลวและมีความสามารถในการฟื้นตัวกลับขึ้นมาเสมอ คนมีโชคจะคาดว่าสิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นกับตนเอง และเชื่อว่าไม่ว่าอะไรที่ร้ายแรงในชีวิตเกิดขึ้นก็ตามในที่สุดแล้วก็จะคลี่คลายไปในที่สุดเสมอ โลกสำหรับคนเหล่านี้จะงดงามและสดสวย ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มคนโชคไม่ดีซึ่งคาดหวังว่าไม่ว่าทำอะไรก็จะล้มเหลว โลกของกลุ่มคนนี้มืดหม่นและมืดดำ


Dr.Wiseman ให้คนสองกลุ่มเล่นเกม Puzzle ซึ่งไม่มีทางได้คำตอบเลย เมื่อเล่นไปสักพักร้อยละ 60 ของกลุ่มคนโชคไม่ดีบอกว่าเกมนี้ไม่มีคำตอบ ในขณะที่มีร้อยละ 30 ของกลุ่มคนโชคดีที่บอกอย่างเดียวกัน โดยสรุปก็คือกลุ่มคนไม่มีโชคยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม


ประการที่สี่ กลุ่มคนโชคดีมีความสามารถพิเศษในการเปลี่ยนโชคร้ายให้เป็นประโยชน์


Dr.Wiseman เชื่อว่าปัจจัยตัวนี้มีบทบาทสำคัญที่สุดใน ตัวในการมีโชคจนทำให้สามารถรอดชีวิตจากภัยอันตรายมาได้


ความเห็นของ Dr.Wiseman ตรงกับความเชื่อของ Dr.Al Siebert ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญของอเมริกาในเรื่องจิตวิทยาของการเอาชีวิตรอด ซึ่งศึกษาบุคลิกภาพของการเป็นผู้รอดชีวิต (Survivor Personality) และพบว่าทักษะสำคัญยิ่งในการเอาชีวิตรอดคือ การมีทักษะสร้างโชคที่จะพบสิ่งดีๆ โดยไม่คาดฝัน (Serendipidity Talent) กล่าวคือเมื่อประสบภัย พวก "โชคดี" (ผู้สามารถเอาชีวิตรอดได้เป็นเลิศ) ไม่เพียงแต่ต่อสู้กับภัยได้ดีเท่านั้นยังสามารถเปลี่ยนแปลงภัยร้ายเป็นประโยชน์ได้ด้วย


ใครที่ดูภาพยนตร์ชุด Mclver จะเห็นความสามารถในการคิดแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอย่างไม่หวั่นไหวด้วยการนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ บุคลิกภาพเช่นนี้ทำให้สามารถอยู่รอดได้อย่างดี จนดูเหมือนว่าเป็นคนมีโชคเหนือคนอื่นๆ


Dr.Wiseman เชื่อว่าในเรื่องการมีโชคสิ่งที่อธิบายไม่ได้เกี่ยวกับความมีโชคมีอยู่แค่ร้อยละ 10 เท่านั้น อีกร้อยละ 90 มีรากฐานมาจากวิธีการคิดของคน คนที่เคร่งครัดกับชีวิตจนเกินไปจะมองไม่เห็นสิ่งอื่นๆ ที่เป็นโอกาสเข้ามาหาตัว และถึงเข้ามาหาตัวเองก็ไม่พร้อมเพราะไม่เคยเตรียมพร้อมไว้ก่อนหน้านี้


ข้อค้นพบทางวิชาการนี้ทำให้เราพอสบายใจขึ้นได้บ้างกระมังว่าใครก็อาจมีโชคได้โดยไม่ต้องรอให้ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ภายนอก ความมีโชคทำให้เกิดขึ้นได้ในขอบเขตหนึ่งด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการมองโลกและบุคลิกภาพ


ทุกสิ่งในโลกที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผลอธิบายมันได้ทั้งสิ้น แม้แต่ความไร้เหตุผลก็ตาม


/ ขอบคุณพี่เจี๊ยบ ส่งให้อ่าน

7 ความคิดเห็น:

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

เอ่อ แต่ ซื้อหวย กะโชคดี โชคร้าย นี่ก้ไม่รู้เกี่ยวกันมะ

My--Refresh (^>^) . กล่าวว่า...

น่าสนใจดีจัง
เคยลองทำนิวโรบิคส์ บางเรื่อง ที่สนุกทุกครั้ง มากกว่าลุ้น
คือเปลี่ยนเส้นทางขับรถ
ลองใช้มือซ้ายสระปม หรือถือของบ้าง
สลับลำดับการหยิบของใช้ประจำวัน ^^

Jirawat Suttipitayasak กล่าวว่า...

อืม...เพิ่งสังเกตเหมือนกันจริงๆครับ

ผมเองเป็นคนที่ค่อนข้างโทษตัวเองว่าโชคร้ายบ่อยๆ มาอ่านบทความนี้แล้วก็รู้สึกว่าที่เขาเขียนมันค่อนข้างจริงแหะ

สงสัยจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ ขอบคุณที่แนะนำบทความดีๆให้อ่านกันครับ

明 เม้ง  ^__^ กล่าวว่า...

เคยคิดบ่อยๆว่า ฝรั่งนี่ช่างคิด ช่างวิจัยนะ เรื่องนั้นเรื่องนี้

พอมาอ่านเรื่องนี้ เออแหะ ใช่จริงๆด้วย

我 ... กล่าวว่า...

แทงก์นะ ผลวิจัยนี้มีเหตุมีผลมากๆ
อ่านแล้วก็รู้สึกดี เพราะบางข้อเราก็คิดคล้ายๆ จะโชคดีหรือโชคร้ายไม่รู้แต่เราเชื่อ สัญชาติญาณของเราเสมอ

phyche phyche123 กล่าวว่า...

เคยทำบ้างแล้วนินา neurobic exercise

libra_ scorpio กล่าวว่า...

อ่านแล้วชอบจัง