การเป็นมนุษย์ทำให้เรามีโอกาสลิ้มรสหลากหลาย
รสที่ทำให้เกิดความติดใจอันเป็นสากล
เห็นจะไม่พ้นรสแห่งรักและรสแห่งกามารมณ์

เมื่อนึกเปรียบเทียบกับรสที่สัมผัสได้ด้วยลิ้น
แรกรักอันหวานชื่นมักถูกเปรียบเทียบ
กับไอศกรีมรสสตรอเบอรี่
เพราะลิ้มแล้วชวนให้นึกถึงฝันหวาน
ชวนปรารถนาเพียงสัมผัสละมุนในจินตนาการ
ส่วนอันเร้าใจในลำดับถัดมา
ที่เริ่มมีความสนิทชิดเชื้อ
มีสิทธิ์จับมือไม้
ถึงเนื้อถึงตัวกันได้ในระดับโอบกอด
คงเปรียบกับรสช็อกโกแลตเข้มข้น
ที่กินหมดแล้วอารมณ์ยังไม่จบ

อะไรที่เลยไปกว่านั้น
คงเทียบได้กับต้มยำรสจัด
รสชาติถึงใจ

ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันระหว่างหญิงชาย
ไม่ได้มีแต่รสอร่อย
แต่ยังมีรสขมเหมือนบอระเพ็ดรออยู่
ณ
เวลาใดเวลาหนึ่ง
อาจจะมาในรูปของการทะเลาะเบาะแว้ง
หรืออาจจะมาในรูปของความรู้สึกหมดรัก
หรือความรู้สึกขมขื่นที่ต้องจำใจจากกัน

จริงๆแล้วบอระเพ็ดช่วยเจริญอาหาร
เพราะความขมของมันนั่นเอง
ช่วยทำให้รู้สึกอยากอาหาร
ฉะนั้นสำหรับคนส่วนใหญ่
ถ้าไม่เจอบอระเพ็ดกบปากขนาดเข็ดเขี้ยว
ก็คงไม่ทำให้หลาบจำ
หลังความขมจางไปจากลิ้น
ก็ถึงรอบใหม่ของการแสวงหารสหวานอีก
แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่ง
ได้ทางเลือกใหม่
คือได้ยินเรื่องรสของนิพพาน
อันว่ากันว่าเป็นรสแห่งอมฤต
เมื่อได้ลิ้มเพียงครั้งเดียว
ก็จะเป็นอมตะอยู่กับรสอมฤตไปชั่วกาลนาน
เมื่อทำความเข้าใจ
ว่านิพพานคือสุญญตา
เป็นความว่างจากผัสสะเร่าร้อนแห่งกามคุณ
หลายคนมักนึกเปรียบเทียบ
ว่านิพพานเป็นแค่แกงจืดชั้นดี

แท้จริงไม่ใช่เช่นนั้น
รสของนิพพานเปรียบเสมือนท้องฟ้า
อันเป็นเครื่องหมายแห่งอิสรภาพไพศาล
คุณไม่อาจสัมผัสด้วยลิ้นหรือประสาทหยาบใดๆ
นิพพานเป็นรสอันเหนือรส
ที่พลิกประสบการณ์ทั้งหมดของพวกเรา

จินตนาการของมนุษย์แคบจำกัดนัก
เหมือนเมื่อนึกถึงรสชาติ
ใจคุณจะถูกเหนี่ยวนำให้คิดถึงแต่ลิ้นสัมผัสรส
ต่อเมื่อจิตหลุดพ้นจากกรงแห่งประสาทหยาบไปได้
คุณจะพบกับอะไรอีกอย่างหนึ่งที่นึกไม่ถึง
และรู้ว่าลิ้นไม่เคยทำให้คุณรู้จักอะไร
มากไปกว่ารสแห่งอุปาทาน
อันเลอะเลือนและเหือดหายได้อย่างรวดเร็ว
จิตเท่านั้นที่อาจเข้าไปรู้เห็นความจริงอันเป็นอมตะ
พระพุทธเจ้าตรัสว่ากามเหมือนฝัน
สิ่งปรุงประกอบทั้งหลายถูกบีบคั้นให้แตกสลายเสมอ
อะไรที่ต้องเลอะเลือนไปย่อมกล่าวได้ว่าเป็นเท็จ
อะไรที่ตั้งมั่นถาวรเท่านั้นที่กล่าวได้ว่าเป็นจริง
ทุกรสที่คุณลิ้มมา
ไม่ว่าจะหวานหรือขม
ไม่ว่าจะเผ็ดหรือจืด
ต่างก็คือรสแห่งความเป็นเท็จ
รสที่จะกล่อมสมองคุณให้หลงติดอยู่กับอุปาทาน
ส่วนรสแห่งนิพพานคือรสแห่งความจริง
เป็นรสเปิดฟ้าที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อน
เมื่อลิ้มแล้ว
คุณจะไม่กล่าวว่ามีรสใดเยี่ยมกว่านั้นอีก
หากต้องการอ่านจดหมายข่าวย้อนหลัง
ขอให้ไปที่เว็บบอร์ด ดังตฤณวิสัชนา
เมื่อตอบคำถามเดิมหมดแล้วจะรับคำถามใหม่ในวันพฤหัสบดี
และขออนุญาตไม่รับข้อความส่วนตัวทางอื่น
เพื่อการสื่อสารสองทางที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ
สวัสดีครับ
พบกันใหม่พฤหัสบดีหน้า
ดังตฤณ
นี่คือจดหมายข่าวจากดังตฤณดอทคอม
ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ กันยายน
๒๕๔๙
รสชาติของทุกข์นั้นเหมือนกัน
แต่รูปแบบของทุกข์มีได้หลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นทุกข์เรื่องบ้าน
ทุกข์เรื่องงาน
ทุกข์เรื่องเงิน ทุกข์เรื่องแฟน
ทุกข์เรื่องสุขภาพ
เหล่ามนุษย์ที่มีอายุแล้วระดับหนึ่ง
ย่อมผ่านพบมาด้วยกันทุกคน
อาจหนักบ้าง
อาจน้อยบ้าง

(รูปจาก
sweetbabygurl08.tripod.com)
เหตุให้เกิดทุกข์แต่ละแบบก็ช่างพิสดาร
เหตุแห่งทุกข์จากชาติก่อนก็มี
เหตุแห่งทุกข์จากชาตินี้ก็มาก
ถ้าคุณจำได้ว่าชาติก่อนเคยฆ่าคนไว้มาก
เห็นนิมิตคนตายเพราะน้ำมือคุณ
คุณอาจรู้สึกเป็นทุกข์น้อยลง
ไม่ว่าชาตินี้เดี๋ยวนี้
คุณกำลังเป็นทุกข์จากสุขภาพอ่อนแอสักเพียงใด
(รูปจาก
underthesamesun.org)
แต่เพราะไม่รู้ไม่เห็น
หากคุณเจ็บออดๆแอดๆมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
คุณคงได้แต่ก่นโทษ
พ่อแม่
หรืออีกทีก็โทษฟ้าดิน
ด้วยความน้อยใจชะตากรรม
หากทั้งชีวิตคุณทุกข์หนัก
คุณจะไม่มีแก่ใจแหงนหน้าตั้งคำถามบางข้อ
เช่น
ทำไมฟ้าจึงฟ้า...

(รูปจาก
why-is-the-sky-blue.tv)
แต่จะหมั่นก้มหน้าถามตัวเองซ้ำๆ
เช่น
ทำไมถึงต้องเป็นคุณ

(รูปจาก
carolynsandstrom.com)
ความจริงก็คือ
ต่อให้มนุษย์ทุกคนระลึกชาติได้
ก็ใช่ว่ามนุษย์ทุกคนจะยอมรับ
ว่าเหตุแห่งทุกข์มาจากการกระทำของตนเอง
ในเมื่อการกระทำที่เห็นอยู่ในชาตินี้แท้ๆ
ยังลืม
ยังนึกไม่ออก
หรือยังแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ด้วยซ้ำ
สนแต่ว่าใครกระทำกับตนไว้อย่างไร
แต่ไม่สนว่าตนกระทำกับใครไว้แค่ไหน
ความไม่รู้ทำให้เรางงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ความใส่ใจแต่เรื่องของตัวเอง
ทำให้เราหลงลืมว่าทำอะไรกับใครไว้บ้าง

สถานที่บางแห่งในโลกนี้
เตือนให้เรารู้สึกถึงการเดินทางไกล
อันเต็มไปด้วยความร้อนอบอ้าว
และความเวิ้งว้างน่าเหน็ดหน่าย
เห็นแล้วอดนึกฉงนไม่ได้
ว่าจะเดินทางไปไหน
จะเดินทางไปทำไม
และจะเดินทางไปกับใครดี
พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบว่า
วังวนกรรมและวงเวียนแห่งการเกิดตาย
เหมือนการเดินทางไกล
เหมือนการนอนไม่หลับ
แถมหนักยิ่งกว่านั้นมาก
เพราะสังสารวัฏหรือการเวียนว่ายตายเกิดนี้
หาต้นปลายมิได้
คุณต้องหาทางหยุด
ณ จุดที่กำลังรู้ตัว
กำลังระลึกได้ อันเรียกกันว่า "ปัจจุบัน"
นี้
พวกเราต่างชุ่มไปด้วยบาป
อาบทุกข์ต่างน้ำกันแทบทุกชาติ
แต่ก็ไม่รู้ตัว
ไม่รู้เหตุผล
และสำคัญคือไม่รู้ว่าจะหยุดได้อย่างไร
พระพุทธเจ้ารู้
และท่านก็ตรัสสรุป
ว่าทางเดียวที่จะรู้ตามท่าน
ตลอดจนหยุดตามท่าน
คือการมองเข้าข้างใน
และการหยั่งรู้สรรพสิ่งออกมาจากภายใน
คือสัญลักษณ์สำคัญของพุทธแท้
พุทธแท้จะรู้ว่าการพยายามมองออกข้างนอก
เป็นวิธีที่ไม่ทำให้รู้จักประโยชน์สูงสุด
อันพึงมีพึงได้จากความเป็นมนุษย์

(รูปจาก
buddhanet.net)
หากเป็นผู้พร้อมจะรู้ตามจริง
สมองปลอดโปร่ง
คลื่นความคิดสงบเงียบ
ก็เริ่มดูความไม่เที่ยงของลมหายใจ
ดูความไม่เที่ยงของสุขทุกข์
ดูความไม่ใช่ตัวตนของกายและจิตได้ไม่ยาก
แต่หากยังรกด้วยกิเลสและคลื่นลมในหัว
ก็ต้องถากถาง
และกางกำแพงกั้นให้สงัดจากคลื่นลมก่อน
อาจจะตั้งต้นจากการยอมรับตามจริง
ว่าเราทำอะไรไม่ดีไว้บ้าง
ก็เลิกทำเสีย
เรายังทำดีอะไรน้อยไปบ้าง
ก็ทำให้มากขึ้น
การทำความเข้าใจกรรมวิบากให้ลึกซึ้ง
เป็นทางหนึ่งที่จะถากถางกิเลส
เพื่อให้ใจคอสบายขึ้น
เพื่อให้ชีวิตสว่างไสวกว่าเดิม
นอกจากนั้นยังทำให้มีกำลังใจ
ในอันที่จะก่อกำแพงกั้นคลื่นลมจากทิศต่างๆ
เพื่อไม่ให้จิตซวนเซง่าย
เพื่อไม่ให้จิตหลงตามเครื่องเร้าภายนอกมากเกินไป