ว่าด้วยเรื่องอักษรย่อ
โดย รองศาสตราจารย์มัลลิกา คณานุรักษ์
ภาษาไทยมีการเขียนอักษรย่อและมีการอ่านอักษรย่อ การเขียนย่อมีทั้งย่อโดยไม่มีจุด (มหัพภาค) ย่อโดยมีจุดเดียว และย่อโดยมีหลายจุด การอ่านมีทั้งอ่านย่อได้และอ่านย่อไม่ได้
การออกเสียงอักษรย่อ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหรือการพูดในการสื่อสารที่เป็นงานพิธีการ หรือเป็นทางการ (Formal-Language) จะต้องออกเสียงเต็ม ไม่มีการออกเสียงย่อเหมือนกับการเขียน ซึ่งการเขียนอักษรย่อเดิมน่าจะเกิดจากหน่วยงานราชการนำมาเขียนคำศัพท์เฉพาะที่มีความหมายเฉพาะ ภายหลังมีการนำมาใช้กันแพร่หลาย
ตัวอย่างการออกเสียงอักษรย่อที่เขียนย่อโดยไม่มีจุด
มท ต้องออกเสียงว่า กระทรวงมหาดไทย
กค ต้องออกเสียงว่า กระทรวงการคลัง
สส ต้องออกเสียงว่า กระทรวงสาธารณสุข
อก ต้องออกเสียงว่า กระทรวงอุตสาหกรรม
ฯลฯ
ตัวอย่างการออกเสียงอักษรย่อที่เขียนย่อโดยมีจุดเดียว
ดร. ต้องออกเสียงว่า ดอกเตอร์
ผศ. ต้องออกเสียงว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์
รศ. ต้องออกเสียงว่า รองศาสตราจารย์
ศ. ต้องออกเสียงว่า ศาสตราจารย์
ฯลฯ
ตัวอย่างการออกเสียงอักษรย่อที่เขียนโดยมีหลายจุด
ม.จ. ต้องออกเสียงว่า หม่อมเจ้า
ม.ป.ช. ต้องออกเสียงว่า มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
ม.ร.ว. ต้องออกเสียงว่า หม่อมราชวงศ์
ฯลฯ
การออกเสียงอักษรย่อที่เป็นเวลา ต้องออกเสียงเป็นนาฬิกาและนาที
ดังนี้
๘.๐๐ น. ต้องออกเสียงว่า แปดนาฬิกา มิใช่ แปดจุดสูนนอ
๑๓.๔๕ น. ต้องออกเสียงว่า สิบสามนาฬิกาสี่สิบห้านาที มิใช่ สิบสามจุดสี่ห้านอ
ปัจจุบันเกิดปัญหาจากการใช้อักษรย่อซ้ำซ้อน เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการเขียนอักษรย่อ ต่างคนต่างบัญญัติคำย่อขึ้นเองตามใจชอบ เช่น
รร. อาจย่อมาจาก โรงเรียน หรือ โรงแรม หรือ โรงเรือน
ป. อาจย่อมาจาก ประถม หรือประกาศนียบัตร หรือ เปรียญ
สาเหตุที่ต่างคนต่างบัญญัติคำย่อตามใจชอบเพราะคิดว่าไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดอักษรตัวย่อ ความจริงแล้วหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำหนดการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องในทุกๆเรื่อง คือ ราชบัณฑิตยสถาน ราชบัณทิตยสถานได้กำหนดหลักเกณท์การเขียนอักษรคำย่อในหนังสือหลักเกณท์การใช้เครื่องหมายวรรคตอน ดังนี้
๑.ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกของคำเป็นตัวย่อ
๑.๑.ถ้าเป็นคำคำเดียวให้ใช้ตัวย่อตัวเดียว แม้ว่าคำนั้นจะมีหลายพยางค์ก็ตาม ตัวอย่าง
วา = ว.
จังหวัด = จ.
๓.๐๐ นาฬิกา = ๓.๐๐ น.
ศาสตราจารย์ = ศ.
๑.๒.ถ้าใช้ตัวย่อเพียงตัวเดียวแล้วทำให้เกิดความสับสน อาจใช้พยัญชนะต้นของคำถัดไปเป็นตัวย่อด้วยก็ได้ ตัวอย่าง
ตำรวจ = ตร.
อัยการ = อก.
๒.ถ้าเป็นคำสมาสให้ถือเป็นคำคำเดียว และใช้พยัญชนะต้นของพยางค์แรกเพียงตัวเดียว ตัวอย่าง
มหาวิทยาลัย = ม.
วิทยาลัย = ว.
๓.ถ้าเป็นคำประสม ใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำเรียงต่อกัน ตัวอย่าง
ชั่วโมง = ชม.
โรงเรียน = รร.
๔.ถ้าคำประสมประกอบด้วยคำหลายคำ มีความยาวมาก อาจเลือกเฉพาะพยัญชนะต้นของคำเป็นใจความสำคัญ ทั้งนี้ไม่ควรเกิน ๔ ตัว ตัวอย่าง
คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ = กปร.
สำนักคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ = สปช.
๕.ถ้าใช้พยัญชนะต้นของแต่ละคำแล้วทำให้เกิดความสับสน ให้ใช้พยัญชนะต้นของพยางค์ถัดไปแทน ตัวอย่าง
พระราชกำหนด = พ.ร.ก.
พระราชกฤษฎีกา = พ.ร.ฎ.
๖.ถ้าพยางค์ที่จะนำพยัญชนะต้นมาใช้เป็นตัวย่อมี ห เป็นอักษรนำ เช่น หญ หล ให้ใช้พยัญชนะต้นนั้นเป็นตัวย่อ ตัวอย่าง
ประกาศนียบัตร = ป. ถนน = ถ. เปรียญ = ป.
๗.ตัวย่อไม่ควรใช้สระ ยกเว้นคำที่เคยใช้มาก่อนแล้ว ตัวอย่าง
เมษายน = เม.ย. มิถุนายน = มิ.ย.
๘.ตัวย่อต้องมีจุดกำกับเสมอ ตัวย่อตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปให้จุดที่ตัวสุดท้ายเพียงจุดเดียว ยกเว้นตัวที่ใช้กันมาก่อนแล้ว ตัวอย่าง
ตำบล = ต.
ทบวงมหาวิทยาลัย = ทม.
๙.ให้เว้นวรรคหน้าตัวย่อทุกแบบ ตัวอย่าง
ประวัติของ อ. พระนครศรีอยุธยา
มีข่าวจาก กทม. ว่า
๑๐..ให้เว้นวรรคระหว่างกลุ่มอักษรย่อ ตัวอย่าง
ศ. นพ.
๑๑.การอ่านคำย่อต้องอ่านเต็ม
๐๕.๐๐ น. อ่านว่า ห้านาฬิกา
อ. พระนครศรีอยุธยา อ่านว่า อำเภอพระนครศรีอยุธยา
ยกเว้นในกรณีที่คำเต็มนั้นยาวมากและคำย่อนั้นเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันทั่วไปแล้ว อาจอ่านตัวย่อเรียงตัวไปก็ได้ ตัวอย่าง
ก.พ. อ่านว่า กอ-พอ
ที่มาของอักษรย่อในภาษาไทย (พรพิมล-วิโรจน์ ถิรคุณโกวิท.๒๕๓๙)
๑.มาจากชื่อเฉพาะหรือข้อความค่อนข้างยาว จนไม่สะดวกที่จะเขียนซ้ำ หรือยากต่อการจดจำ จึงใช้อักษรย่อแทน เช่น ป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) กกศ.(คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ) ส.ค.ช. (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
๒.มาจากชื่อของบุคคล หรือสัญลักษณ์เพื่อกำหนดแทนสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น น.ม.ส.(รัชนี แจ่ม จรัส) พระนามของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ที่ทรงใช้เป็นนามปากกาในงานที่ทรงนิพนธ์ อย. (องค์การอาหารและยา) ใช้เป็นเครื่องหมายติดที่บรรจุภัณฑ์อาหารและยาเป็นการรับรองจากทางราชการ
๓.มาจากชื่อที่ทางราชการกำหนดขึ้นใช้เฉพาะกรณี เช่นชื่อจังหวัด สำหรับใช้พิมพ์ในหัวจดหมายราชการ จะกำหนดสองตัวอักษรเขียนติดกันโดยไม่มีจุด (มหัพภาค) เช่น สก (จังหวัดสระแก้ว)ฯ
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณค่า
แต่ยังอ่านม่ายจบ หลักการเขียนแยะไว้ขยันๆมาอ่านใหม่
แสดงความคิดเห็น