เลือกยาให้ถูกโรค
: เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
จากข้อมูลสถิติทางการแพทย์พบว่า คนไทยใช้ยามากกว่าคนในประเทศพัฒนาแล้ว แค่มีอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็กินยา ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น ลองมาทำความเข้าใจ เรื่องการใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการของโรค
แม้การใช้ยาเกินจำเป็นจะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนไทยเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน หรือมีรณรงค์อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับแพทย์ไม่ค่อยอธิบาย เรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ก็เลยใช้ยาตามความเคยชิน และความเชื่อที่บอกต่อกันมา
ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติ ตามข้อมูลสถิติ ปี 2549 ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณค่ายาประมาณ 76,000 ล้านบาท และกลุ่มยาที่มีมูลค่าการใช้สูงสุด เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ คือกลุ่มยาฆ่าเชื้อ รวมถึงยาปฏิชีวนะ (คนส่วนใหญ่เรียกว่า ยาแก้อักเสบ แต่ยาปฏิชีวนะไม่ได้แก้อักเสบ)
ความเชื่อเรื่องการใช้ยา
ถ้าคุณป่วยเป็นหวัด เจ็บคอ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เพราะอาการส่วนใหญ่ของโรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ยาปฏิชีวนะใช้ฆ่าแบคทีเรีย เมื่อกินไปแล้ว จึงไม่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ และจาม
"เวลาคออักเสบ คนเข้าใจว่าต้องกินยาแก้อักเสบ นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะการอักเสบเป็นผลมาจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกาย ยกตัวอย่างคนเป็นภูมิแพ้เพราะสูดหายใจเอาฝุ่นที่ตัวเองแพ้เข้าไป ก็เกิดการอักเสบที่จมูก ทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือตากแดดนานๆ ก็ทำให้ผิวหนังอักเสบ
ยาปฏิชีวนะไม่มีประโยชน์ต่อการอักเสบ ถ้าร่างกายติดเชื้อไวรัส 2-3 วัน ร่างกายก็จะปรับสมดุล หายป่วยได้เอง แค่ดื่มน้ำอุ่น พักผ่อน ร่างกายก็ฟื้นตัว แต่บางครั้งก็ยืดเยื้อเป็น 7 วัน ซึ่งเป็นปัญหาที่คนจะคิดว่า ทำไมไม่หายป่วย ก็เลยกินยาปฏิชีวนะ พอกินก็หายป่วย ก็เลยตอกย้ำความเชื่อว่า หายเพราะกินยา ทั้งๆ ที่ช่วงที่กินยา อาการก็ใกล้จะหายป่วยแล้ว" ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างมีเหตุผล กองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงความสำคัญในการใช้ยา
เพราะคนไทยมีความเชื่อกันว่า ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดไข้ จึงมีการใช้ยาอะม็อกซี แอมพิซิลลิน คลาซิด คราวิท ซีแด็กซ์ ฯลฯ บางครั้งเขียนกำกับไว้ว่า ยาฆ่าเชื้อ บางชนิดเป็นยาผง ซึ่งไม่ได้ทำให้โรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนหายเร็วขึ้น และไม่ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส เพราะยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์ได้เฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
ไม่ต่างจากโรคท้องเสีย ท้องเดิน ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสหรืออาหารเป็นพิษ มีเพียง 5 ใน 100 คนเท่านั้นที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการกินยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อจึงไม่จำเป็น วิธีการรักษาที่ดีที่สุดคือ ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป และไม่ควรดื่มนม
"อย่างยาแก้ท้องเสีย มีตัวยาชนิดหนึ่งใช้ยาปฏิชีวนะสี่หรือห้าชนิดในเม็ดเดียวกัน และประชาชนนิยมใช้ ยาตัวนี้อยากให้เลิกใช้ ถ้าพูดไปคนรู้จักทั้งประเทศ ในร้านขายยามียาตัวนี้ ในโรงพยาบาลก็มี แต่น้อย และบางโรงเรียนมียาชนิดนี้ ไม่ควรใช้กับเด็กๆ"
ส่วนอีกอาการที่ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะก็คือ แผลเลือดออก ไม่จำเป็นต้องกินยาพวกนี้ เพราะไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ยกเว้นผู้ป่วยเบาหวาน วิธีการรักษาคือ อย่าให้แผลโดนน้ำอย่างน้อยสามวัน ล้างแผลให้ถูกวิธี ยกเว้นแผลบวมอักเสบต้องรีบไปพบแพทย์
"ในสามโรคนี้เราพบว่า มีคนใช้ยาเกินจำเป็น เพราะความเชื่อผิดๆ ของผู้ใช้ยา และถูกทำให้เชื่อว่า เจ็บคอต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าเจ็บคอจากเชื้อไวรัส อาจใช้เกลือละลายน้ำกลั่วคอ ก็จะช่วยบรรเทาอาการ ถ้าปากแห้งก็เพราะขาดน้ำ ก็ดื่มน้ำมากขึ้น และอากาศเย็นทำให้ภูมิต้านทานลดลง" คุณหมอพิสนธิ์ กล่าว
ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
หมวดหมู่การใช้ยาไม่ถูกต้องของคนไทยยังมีอีกมากมาย คุณหมอพิสนธิ์บอกว่า ต้องรณรงค์ทำความเข้าใจจากสามโรคก่อนคือ หวัด เจ็บคอ /ท้องร่วง ท้องเสีย และแผลเลือดออก เพราะยังใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากและไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย
"เท่าที่ผ่านมา กระบวนการแก้ปัญหาสุขภาพ ทำไมมีวิธีเดียวคือ การใช้ยา ต้องกลับมาทบทวนว่า ทำไมคนไทยใช้ยาเกินความจำเป็น เพราะเราไม่ได้ใช้ยาเพื่อรักษาโรค แต่ใช้ยาทุกชนิด ไม่ว่าความสวยงาม สมรรถภาพ หรือยาที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพที่ดี ประชาชนยังขาดความรู้เรื่องนี้อีกมาก ใช้ยาผิดขนาด กินยาไม่ถูกวิธี ซึ่งต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยา" ภ.ญ.เขมวดี ขนาบแก้ว เล่าถึงการใช้ยาของประชาชน
ส่วนภญ.ดร.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ บอกถึงการทำงานรณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลในโครงการว่า เรื่องความรู้ไม่ยากในเผยแพร่ทำความเข้าใจ แต่เรื่องความเชื่อ ความมั่นใจในการใช้ยายังมีปัญหา
โครงการดังกล่าวจึงได้นำกระบวนการต่างๆ นำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่นำร่องจังหวัดสระบุรี เพื่อลดการใช้ยาในกลุ่มประชาชนและทำความเข้าใจกับแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงในอนาคตจะดำเนินการขยายผลออกไปอีก 18 จังหวัด
“บัญชียาหลักแห่งชาติ ทำการวิเคราะห์ยาทุกระบบอย่างละเอียด ใช้ผู้เชี่ยวชาญกว่าร้อยคน ยาที่ไม่มีประสิทธิภาพจะเอาออกจากบัญชี ยาอยู่ในบัญชีนี้มีประมาณ 1,000 รายการ แต่ยาที่จำหน่ายในประเทศนี้มีประมาณ 2,000 ชนิด และใน 1,000 ชนิดที่มีอยู่ก็มีปัญหา และอาจไม่มีประสิทธิภาพ” คุณหมอพิสนธิ์ กล่าวถึงยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ว่าไปแล้วประชาชนมีสิทธิซักถามแพทย์ด้วยคำถามง่ายๆ และแพทย์ต้องมีหน้าที่อธิบายให้คนไข้เข้าใจ แม้ในทางปฏิบัติจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่คนไข้ก็ควรสอบถามเบื้องต้นว่า ป่วยเป็นโรคอะไร ใช้ยาชนิดนี้ด้วยเหตุผลใด เมื่อใช้ยาแล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไร
"การใช้ยาอย่างสมเหตุผลคือ จำเป็นต้องใช้ มีประโยชน์จริง มีความเสี่ยงต่ำ มีความคุ้มค่า"
ถ้าจะพูดถึงยาอีกกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่ยาแก้อักเสบ แต่เป็นยาลดไข้ ลดน้ำมูก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Antihistamines ยาชนิดนี้ไม่มีผลในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และไม่มีผลต่อการรักษาโรคหวัด
ยาคลอเฟนนิรามีน เป็นยาในกลุ่ม Antihistamines ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ ทำให้เมือกน้ำมูกแห้ง คนส่วนใหญ่นำมาใช้รักษาโรคหวัด คุณหมอบอกว่า นั่นคือ ยาเม็ดสีเหลืองๆ กินแล้วง่วงนอน ใช้ลดน้ำมูกที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ เคยมีงานวิจัยเปรียบเทียบยาสองกลุ่ม โดยให้คนกลุ่มหนึ่งกินยาคลอเฟนนิรามีน และอีกกลุ่มกินยาหลอกที่ผลิตจากแป้ง ผลการทดลองพบว่า คนทั้งสองกลุ่มน้ำมูกลดไม่ต่างกัน ดังนั้นยาคลอเฟนนิรามีนที่ใช้กับโรคหวัดไม่ได้มีประสิทธิภาพ
นี่คือ การใช้ยาไม่สมเหตุผลที่คุณหมอยกตัวอย่าง แต่ยากลุ่มนี้มีราคาถูก ผลข้างเคียงไม่มากนักและไม่ก่อให้เกิดภาวะดื้อยา จึงไม่กระทบต่อคนจำนวนมาก
“เมื่อเร็วๆ นี้คุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีป่วย และหมอบอกว่า เป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ซึ่งตามภาษาอังกฤษโรคนี้จะมีคำว่าไวรัสอยู่ด้วย ไม่ว่าจะกินยาปฏิชีวนะชื่ออะไร ก็ไม่หายป่วย ถ้าจะหายป่วย ก็ไม่เกี่ยวกับยา เช่นเดียวกันเมื่อเราไม่สบายจากเชื้อไวรัส อาการป่วยก็จะหายเอง ไม่จำเป็นต้องกินยา แต่พอกินยาเข้าไปแล้ว ก็เข้าใจว่า ยาทำให้หายป่วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะยา”
ยาแบบไหนอันตราย
ถ้าปวดหัวจำเป็นต้องกินยาพาราเซตามอลหรือไม่ เรื่องนี้คุณหมออธิบายว่า ยาชนิดนี้ใช้แก้ปวดหัวและลดไข้ ถ้ากินตามปริมาณที่ระบุไว้ก็ปลอดภัย แต่ถ้ากินแอสไพริน แม้จะกินตามปริมาณที่ระบุไว้ ก็เกิดอันตราย ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะได้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถ้ารับประทานยาพวกนี้ อาจชักและเสียชีวิตได้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านใช้ยาพวกนี้ ยาประสาทหน่อแรดและทัมใจ ก็คือแอสไพริน ส่วนคนไข้เป็นโรคหอบหืด ถ้ากินแอสไพรินจะกระตุ้นให้อาการหอบเกิดขึ้นและอันตรายมาก
กรณีของยาพาราเซตามอล ถ้ากินในระยะสั้น ไม่ควรเกินวันละ 4 กรัม (ประมาณ 8 เม็ด) ระยะยาวไม่ควรเกินวันละ 2 กรัมกว่า และต้องคอยตรวจเลือดว่า มีพิษต่อตับไหม
คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดคิดว่า ผู้ใหญ่ควรกินยาพาราเซตามอลครั้งละ 2 เม็ด ปริมาณการกินยาต้องแปรผันตามน้ำหนักของผู้ป่วย ถ้าน้ำหนักไม่ถึง 50 กิโลกรัม ควรกินแค่หนึ่งเม็ด
คุณหมอย้ำว่า ถ้ากินยาแก้ปวดชนิดนี้ครั้งเดียว 20 เม็ด ถือว่าฆ่าตัวตาย เพราะคนในต่างประเทศ ใช้ยาพาราเซตามอลฆ่าตัวตายมากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถซื้อยานอนหลับโดยไม่มีคำสั่งแพทย์ แต่สามารถซื้อยาพาราเซตามอลในร้านขายยาได้
“มีงานวิจัยบางชิ้นบ่งชี้ว่า คนที่ไม่สบาย ไม่จำเป็นต้องกินยาในนาทีแรกที่รู้ตัวว่าป่วย ควรทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวและรู้ว่า เชื้อโรคตัวนี้ได้เข้าสู่ร่างกายแล้ว ถ้าเราใช้ยาทันที บ่อยเกินไป ร่างกายจะอ่อนแอ เราต้องให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคตามสมควร จึงจะใช้ชีวิตได้นานๆ ส่วนคนที่มีความคิดว่า กินยาป้องกันไว้ก่อนป่วย อาจเป็นแนวคิดไม่ถูกต้องนัก”
การใช้ยาผิดประเภทและเกินจำเป็นยังมีอีกหลายกลุ่ม ถ้าเป็นยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งเป็นยาต้านการอักเสบแต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรค ที่รู้จักดีคือ แอสไพริน ,ยา Mefenamic acid ยี่ห้อ Ponstan แก้ปวดประจำเดือน,ยา celecoxib ยี่ห้อCerebrex แก้ปวดลดอาการอักเสบของข้อ ,ยา Rofecoxib (โรฟีคอกซิบ) ยี่ห้อ Vioxx แก้ปวดข้อ ปวดประจำเดือน (ปัจจุบันบริษัทถอนยาออกจากตลาดเพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) จากการใช้ยา)
คุณหมอบอกว่า ยากลุ่ม NSAIDs ใช้กันกว้างขวางเพราะลดการอักเสบจากการปวด อย่างคนสูงอายุป่วยจากเข่าเสื่อม กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดข้อปวดกระดูก มักกินยาพวกกลุ่มและหายจากอาการปวด
“ปวดประจำเดือน เกิดจากการอักเสบในช่องท้องบริเวณมดลูก ผู้หญิงบางคนจะกินยาพวกนี้ทุกเดือน ถ้ากินปริมาณไม่มาก ก็ไม่มีปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าแพทย์สั่งว่า กินสองเม็ด แต่พอรู้สึกปวดมากๆ ก็เพิ่มเป็นสี่เม็ด นั่นไม่ถูกต้อง อย่างปวดหัวไมเกรน ปวดหัวธรรมดา ลดไข้ ก็มีการใช้ยาในกลุ่มนี้ ขณะที่มีประโยชน์ แต่ปัญหาก็คล้ายๆ กับยาแอสไพริน ถ้ากินไประยะหนึ่งจะทำให้กระเพาะและลำไส้เป็นแผล พอแผลใหญ่และลึกจะเกิดเลือดออก ความเข้มข้นของเลือดก็ลดลง แต่บางคนเลือดไม่ได้ค่อยๆ ซึมออก ถ้าเลือดออกมาก อาจช็อกเสียชีวิตได้ ในประเทศไทยมีคนตายจากการกินยาในกลุ่ม NSAIDs ไม่ใช่น้อย” คุณหมอเตือนและมีคำแนะนำว่า
ไม่ควรใช้ยากลุ่มต้านการอักเสบเป็นระยะเวลานาน ให้ใช้ระยะสั้นๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด เพราะทุกวันนี้คนที่ปวดเข่าจะกินยาชนิดนี้ติดต่อเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ก็จะเกิดปัญหา
คุณหมออธิบายเพิ่มว่า เมื่อเลิกกินยาก็จะกลับมาปวดอีก จึงต้องมีกระบวนการอื่นๆ มาทดแทน อาจลดปริมาณยา หันมาใช้ยานวด เวลาปวดเข่ามากๆ เพราะความอ้วนก็ต้องลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ใช้ลูกประคบ
“ต้องเลี่ยงยากลุ่ม NSAIDs ซึ่งไม่ต่างจากยาปฏิชีวนะ”
ปัญหาใหญ่คือ เชื้อดื้อยา
คำจำกัดความของการใช้ยาอย่างสมเหตุผลคือ ประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยาต้องมากกว่าความเสี่ยง แพทย์ต้องใช้วิจารณญาณเพื่อชั่งน้ำหนักว่า คนไข้ถึงจุดที่ต้องรับความเสี่ยงจากยาหรือไม่
คุณหมอพิสนธิ์ บอกว่า ตัวเลขที่ตรวจวัดออกมา อาจไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ทั้งหมด เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมเป็นทางเลือกในการตัดสินใจใช้ยา ยกตัวอย่างการใช้ยาเพิ่มมวลกระดูกเพราะกระดูกบาง หรือใช้ยาลดไขมันเพราะไขมันสูง ใช้ยาปฏิชีวนะเพราะเจ็บคอ เป็นการใช้การคาดเดาหรือสันนิษฐานโดยไม่ตรวจสอบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือทางการแพทย์ยืนยันจำนวนมาก ถ้าไม่ศึกษาข้อมูลอาจทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล
"ดังนั้นเวลาสอนนักศึกษาแพทย์ต้องพยายามบอกว่า อย่ารักษาตัวเลข ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่า การใช้ยามีประโยชน์เหนือความเสี่ยงอย่างชัดเจน"
ในกรณีป่วยเป็นโรคที่อันตรายต่อชีวิต คุณหมอพิสนธิ์แนะว่า ต้องขอคำอธิบายจากแพทย์ แต่ถ้าไม่แน่ใจก็ปรึกษาแพทย์คนที่สอง อย่างการกินยาเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ก็มีหลายรูปแบบ เท่าที่ทราบต้องเสียค่าใช้จ่ายปีละเกือบสองหมื่นบาท แล้วจำเป็นต้องใช้ยานั้นหรือไม่
"คนป่วยต้องถามว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการกินยาและไม่กินต่างกันอย่างไร ต้องศึกษาข้อมูล แต่บางครั้งก็พึ่งพาข้อมูลพวกนี้ไม่ได้ เพราะมีการโฆษณาให้ใช้ยา ถ้าเราเดินไปร้านขายยาแล้วบอกว่า เจ็บคอ เขาก็หยิบยาปฏิชีวนะให้ ซึ่งเป็นปัญหาการใช้ยาอีกประเด็นที่ขาดข้อมูล อย่างยาป้องกันกระดูกพรุนก็ซื้อหาได้ง่าย และเครื่องตรวจวัดภาวะกระดูกพรุน ก็ใช่ว่าได้มาตรฐาน"
หากถามว่า เราสามารถตัดสินใจใช้ยาได้ด้วยตนเองหรือไม่ คุณหมอบอกว่า เรื่องนี้ยาก จำเป็นต้องใช้การวินิจฉัยจากแพทย์ แต่อีกส่วนที่พึ่งพาได้คือ การเปิดดูบัญชียาหลักแห่งชาติ ดูในเวบไซต์ก็ได้ ถ้าไม่มีในบัญชีก็ซักถามแพทย์ได้ว่า ทำไมต้องกินยาชนิดนี้
"ตอนนี้ผมเน้นเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็นก่อน เพราะเรื่องนี้สำคัญมาก ถ้าใช้ยาผิดจะเกิดผลกระทบกับคนทั้งประเทศ เมื่อเกิดเชื้อดื้อยาปนมากับโรคหวัด ก็จะสามารถแพร่พันธุ์ผ่านการไอและจามในที่สาธารณะ เมื่อเกิดอาการดื้อยาอีก ก็เปลี่ยนมาใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ ซึ่งมีราคาแพง แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ทำให้หมดทางรักษา เพราะไม่สามารถคิดค้นยาตัวใหม่ได้ทันอัตราการเกิดของเชื้อดื้อยา และมีภาวะการดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ บางโรคน่าจะรักษาได้ แต่มีอาการดื้อยากว่า 80%" คุณหมอพิสนธิ์ กล่าว
ภูมิต้านทานในร่างกาย
อาการเจ็บคอเป็นหวัด น้ำมูกไหล ไอ และมีไข้ ประมาณ 80 % เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในอวัยวะต่างๆ ทำให้คัดจมูก น้ำมูกไหล ระคายคอ เจ็บคอ คอแดง ทำให้เสียงแหบ และเชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้มีอาการตาแดง
ขณะที่ติดเชื้อไวรัส ร่างกายจะเริ่มสร้างระบบภูมิต้านทานเชื้อไวรัส เพื่อไม่ให้เพิ่มปริมาณมากขึ้นและป้องกันไม่ให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ และสารภูมิต้านทานตัวนี้จะทำการจดจำลักษณะสำคัญของไวรัสไว้ในเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์
ดังนั้นถ้าร่างกายรับเชื้อไวรัสชนิดเดิมเข้ามาในอนาคต ร่างกายก็จะปลอดภัยเพราะมีภูมิต้านทานเก็บไว้ในเม็ดเลือดขาว ซึ่งไม่ต้องดูอื่นไกลเด็กที่เคยเป็นหัด อีสุกอีใส จึงไม่เป็นโรคดังกล่าวซ้ำอีก
การมีไข้ที่เกิดขึ้นเป็นปฏิกิริยาหนึ่งที่เกิดจากกระบวนการภูมิต้านโรคเพื่อทำการต่อสู้กับเชื้อไวรัส มีการสร้างสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการแพร่กระจายเชื้อไวรัสด้วยการทำให้อุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้น แต่โรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดก็เป็นอันตราย เช่น ไข้เลือดออก ในวงการแพทย์ยังไม่มียาต้านไวรัสเพื่อทำลายไวรัสไข้เลือดออก แพทย์จึงรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือเพื่อแก้ไขภาวะเลือดข้นในโรคไข้เลือดออก เพื่อรอให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานหยุดยั้งโรค ซึ่งอาจใช้เวลา 7-10 วัน
โรคติดเชื้อไวรัสจึงเป็นโรคที่หายเองด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย
8 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากๆค่ะที่นำความรู้ดีๆมาฝาก...
เป็นคนกินยากมากที่สุด ต้องกินที่ละเม็ดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และต้องกินกับน้ำหวานด้วย
พาราฯ คือยาประจำที่กินครั้งละ 2 เม็ด บางวัน วันละ 8 เม็ด...ตายๆๆๆ กินแบบนี้มาเป็นเวลานานเลย
ทีหลัง ต้องแกล้งใส่ยายัดไว้ในขนมปัง จะได้กินง่าย อิอิ
พารา แปดเม็ด ต่อวัน โอ้ มิน่า ยาขายดี
^^' โอ้ แม่เจ้า เมื่อวานก่อนพึ่งถูกฉีดยามาแถมกินยาอีกมากมาย
++นู๋นั้มจาเป็นไรมั๊ยคะพี่เม้ง
ไม่หรอกมั้ง นู๋นั้มท่าทางอึด
ถึกด้วย---หุหุ---
ออกกำลังกายทุกวัน ร่างกายแข็งแรง
ยาวได้จายดีจัง ความรู้ดีดี แทงก์กิ้ว
เรื่องดีๆ จากน้าเม้ง ^^
แสดงความคิดเห็น