“ ศีลปาโล ” จากหนังสือ ทาน-สังฆทาน ฉบับคู่มือชาวพุทธ
ใส่บาตรไม่ใช่การทำสังฆทาน ถวายถังสังฆทานได้ตลอด ทั้งวัน และยิ่งถวายของใหญ่ ปริมาณเยอะๆ หรือราคาแพง ยิ่งได้บุญมาก
สังฆทานในความเข้าใจของชาวบ้านคือการทำบุญในแบบที่ถวายถาดหรือถังใส่เครื่องอุปโภคบริโภค อาจจะเตรียมเองหรือซื้อหาจากร้านค้า ถาดหรือถังที่ว่าเน้นสีเหลืองเป็นหลัก ข้าวของในนั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยอาหารแห้ง เครื่องดื่มที่เก็บได้ระยะหนึ่ง ของใช้ส่วนตัวจำพวกสบู่ ผ้านุ่ง หรือผ้าอาบน้ำฝน ที่ราคาแพงขึ้นมาหน่อยก็จะมีการเพิ่มยารักษาโรค รองเท้า หรือร่มเข้าไว้ในถังนั้นๆ เพราะสามารถซื้อหาตระเตรียมได้สะดวก ทำให้คนไทยนิยมถวายถังสังฆทานในโอกาสสำคัญๆ พวกเขาเชื่อว่าการถวายสังฆทานแบบนี้ได้บุญมากกว่าใส่บาตรอาหาร เพราะไม่ได้ถวายเฉพาะของกิน แต่ยังมีของใช้ร่วมด้วย ได้บุญมากแถมยังสะดวก ไม่ต้องรีบตื่นเช้ามาเตรียมอาหารเหมือนใส่บาตร ทั้งยังสามารถหอบหิ้วไปถวายพระที่วัดได้ตลอดทั้งวัน
ความเชื่อข้างต้นนี้คลาดเคลื่อนจากหลักคำสอนของพุทธศาสนามาก หลายๆ กรณีก็ไม่ได้บุญมากอย่างที่ เราเข้าใจ
เหตุผลประการแรกคือการทำบุญแบบนี้ถือเอาความสะดวกเป็นที่ตั้ง หลายคนทำทานอย่างลวกๆ แบบขอไปทีถึงเวลาก็ควักเงินซื้อโดยไม่ได้พิจารณาว่าของที่บรรจุไว้ในถาดหรือถังนั้นพระใช้ได้หรือไม่ และจะเอาไปใช้อย่างไร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าของที่บรรจุอยู่ในถังนั้นมีอะไรบ้าง แต่ตรงนี้อาจไม่สำคัญนัก สิ่งที่สำคัญกว่าคือความไม่รู้ว่าของบางอย่างถวายได้แต่ในเวลาที่จำกัด อาหารทุกประเภทถวายแล้วพระเก็บไว้ฉันได้แค่เที่ยงวัน เก็บไว้เกินกว่านั้นถือว่าทำผิดวินัยสงฆ์ เครื่องดื่มบางอย่างพระเก็บไว้ฉันได้เพียงหนึ่งวันกับหนึ่งคืน เก็บไว้เกินกว่านั้นก็ถือว่าทำผิด เหล่านี้เป็นวินัยสงฆ์ที่ชาวบ้านไม่รู้
การที่นำทั้งของกินและของใช้มาใส่รวมกันเป็นเรื่องของการค้าและความสะดวกแบบชาวโลก พระท่านเวลารับของเห็นญาติโยมมาก็พูดอะไรไม่ได้มาก จะไม่รับก็ขัดน้ำใจชาวบ้าน เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดไม่ได้ อีกฝ่ายก็ไม่รู้เรื่องทำให้การทำทานเยี่ยงนี้มีประโยชน์น้อยในทางศาสนา แต่กลับมีประโยชน์มากถ้ามองในเชิงธุรกิจ
ประการต่อมา แม้การถวายถังสังฆทานจะทำได้ง่าย ใช้ทุนทรัพย์ไม่มาก และสะดวกรวดเร็ว (ในวิถีชีวิตอันเร่งรีบของชาวเมือง การตระเตรียมอะไรเองบางครั้งก็ดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก) แต่เพราะง่ายจนเกินไป บ่อยครั้งที่เราไม่ได้ฉุกคิดเลยว่า การที่เอาผงซักฟอกใส่รวมกับใบชาเป็นเวลานานๆ ย่อมทำให้ใบชาติดกลิ่นผงซักฟอก ถวายไปพระก็ลำบากใจที่จะดื่มน้ำจากใบชานั้น หรือการที่เห็นผ้าสีเหลืองๆ ในถังทำให้เราดีใจที่ได้ถวายเครื่องนุ่งห่มพระ แต่ถวายไปแล้วท่านก็ใส่ไม่ได้เพราะผ้าบางมาก มิฉะนั้นก็ไม่ได้ขนาด การวางรองเท้าอยู่ข้างอาหารหรือเครื่องดื่มก็เช่นกัน เราอาจไม่คิดอะไรมาก แต่มันก็ดูไม่ค่อยเหมาะสม หรือไม่ก็ยาสามัญประจำบ้านที่จัดไว้ในกล่องหรือถัง โดยมากมีแต่ยาใช้ภายนอก ยาแก้ไข้ แก้ปวด ตลอดจนยารักษาอาการปวดท้อง ถ้าทุกคนถวายแต่ของเหล่านี้ พระก็จะมีแต่ยาเหล่านี้เต็มวัด ในขณะที่ยาอย่างอื่นกลับหาไม่ได้ ต้องซื้อมาฉันเอง
พระบางรูปที่ใช้เสียงมากเคยปรารภว่าไม่มียาแก้เจ็บคอหรือแก้ไอฉันเพราะไม่เคยมีใครถวาย เหล่านี้คือตัวอย่างของการทำทานที่ชาวพุทธเราคุ้นเคยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราอาจจะคุ้นแต่ยังไม่เคยพิจารณาให้ลึกซึ้ง
ประการที่สาม การที่ชาวพุทธเน้นถวายแต่ถังสังฆทาน ซึ่งมีข้าวของเครื่องใช้ซ้ำๆ กันอยู่อย่างนี้ ทำให้ของใช้หรือยาบางอย่างมีมากเกินความต้องการของพระ วัดบางแห่งในเมืองหลวงจำเป็นต้องเปิดกุฎิว่างเพื่อทำเป็นโกดังเก็บถังสังฆทานที่ยังไม่ได้ใช้เป็นการเฉพาะ เก็บรวบรวมไว้หลายเดือนก่อนนำไปให้วัดที่ต่างจังหวัด ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นอาหารหลายอย่างก็หมดอายุแล้ว ของใช้หลายอย่างหมดสภาพที่จะใช้งานได้อีกต่อไป ใบชาก็อาจจะติดกลิ่นผงซักฟอกอย่างหนักจนต้องทิ้งสถานเดียว ความตั้งใจดีหรือเงินที่ชาวบ้านหามาด้วยความยากลำบากไม่ควรที่จะสูญเสียไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การทำทานจึงควรมีหลักเพื่อประโยชน์ในวงกว้างอย่างแท้จริง
ในเรื่องเกี่ยวกับข้าวของล้นวัด ทำให้วัดบางแห่งแก้ปัญหาด้วยการนำถังสังฆทานมาจำหน่ายใหม่ในราคาถูก ถังสังฆทานหนึ่งถังอาจหาเงินให้วัดได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มองในแง่ดีคือทำให้คนรายได้น้อยมีโอกาสร่วมทำบุญ อีกอย่างคือถังสังฆทานหนึ่งถังที่บุคคลซื้อมาจะกลายเป็นของมีมูลค่าเพิ่มในอนาคต บางคนก็ช่วยกระจายความสมดุลด้วยการซื้อถังสังฆทานราคาถูกไปถวายวัดในท้องถิ่นที่เจริญน้อยกว่า เป็นการให้เงินแก่วัดหนึ่งและของแก่วัดอื่น
อย่างไรก็ตาม การกระจุกตัวของทานในท้องที่หนึ่งๆ ทำให้ประโยชน์ที่บังเกิดกับพุทธศาสนาดำเนินไปในกรอบแคบๆ เหมือนความเจริญที่มีมากในท้องถิ่นหนึ่งๆ แต่กลับไม่สามารถกระจายไปสู่จุดอื่น ในแง่ปฏิบัติอาจดูเหมือนทำอะไรไม่ได้มาก แต่แค่เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับทานเสียใหม่ บางทีเราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระจายความอุดมสมบูรณ์ได้ เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสมดุลให้กับพุทธศาสนาซึ่งความสมดุลนี้จะเป็นการค้ำจุนพุทธศานาในระยะยาว
เพราะการทำทานประกอบด้วยผู้ให้ ของที่ให้ และผู้รับ อานิสงส์อยู่ที่เจตนาของผู้ให้ ความบริสุทธิ์ของสิ่งที่ให้ รวมทั้งประโยชน์และคุณสมบัติของผู้รับ ถ้าสมบูรณ์ทั้งสามส่วนการให้นั้นก็ถือว่าเป็นการทำทานถูกหลักพุทธศาสนา ในแง่นี้การใส่บาตรก็เข้าข่ายเป็นสังฆทานได้เหมือนกัน เป็นทานเพราะประกอบด้วยผู้ให้ ของที่ให้ และผู้รับ เป็นสังฆทานเพราะให้แก่พระรูปใดก็ได้ที่บวชถูกต้องในพุทธศาสนา
การใส่บาตรอาจมีอานิสงส์สูงและได้รับผลลัพธ์ทันทีถ้าเงื่อนไขปัจจัยพร้อม บางครั้งข้าวเพียงแค่ทัพพีเดียวสามารถแปรการให้ของคนคนหนึ่งเป็นการทำสังฆทานที่สมบูรณ์ ถ้าเราคำนึงถึงสาระมากกว่ารูปแบบที่ทำตามๆ กันไปอย่างไม่มีความรู้ การใส่บาตรด้วยข้าวสุกกับแกงสักถ้วยก็สามารถค้ำจุนพุทธศาสนาได้แล้ว แต่ถ้าไม่สะดวกเนื่องจากติดเงื่อนไขของเวลา การถวายของอย่างอื่นให้พระก็ยังเป็นทางเลือกอยู่ เพียงแต่ให้อย่างมีสติ ให้อย่างผู้รู้ และให้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับอย่างแท้จริง
การให้ข้าวของอื่นนอกจากอาหารก็เช่นกัน ถวายของเพียงหนึ่งชิ้นอาจมีค่าและส่งผลมากกว่าถวายของตั้งมากมาย การทำทานควรคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ถ้าใจเราคิดดีของที่ให้ก็เป็นของดีซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของแพง ผู้รับเป็นคนดี ยิ่งถ้ากำลังต้องการของนั้นอยู่ด้วยก็ยิ่งดี ถ้าถวายให้พระโดยไม่เจาะจงบุคคล กำหนดจิตอุทิศของเหล่านี้แก่สงฆ์โดยรวมด้วยความนอบน้อม แม้เป็นแค่ยาหนึ่งแผง ดอกไม้ธูปเทียนหนึ่งมัด หรือน้ำสะอาดหนึ่งถ้วย ก็ได้ชื่อว่าทำสังฆทานแล้วและเป็นการทำสังฆทานที่มีอานิสงส์มากทันที
ยิ่งกว่านั้น การถวายของไม่ค่อยมีราคาก็ไม่ได้แปลว่าคุณค่าของการให้จะต้องลดน้อยลงไปด้วย การให้ที่มีคุณค่ามากคือให้พร้อมกับลด/ละความตระหนี่ (หวงแหน) ในจิตของตน มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลที่ชาวบ้านต้องการจะถวายทานแก่พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่ตนเองไม่มีเงินและข้าวของมีค่าใดๆ เลย พระท่านจึงชี้โอกาสให้บุคคลนั้นนำภาชนะไปบรรจุน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะนำมาถวาย เพียงแค่นี้อานิสงส์อันเกิดจากจิตศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ก็ทำให้บุคคลนั้นในภายหลังได้ไปบังเกิดในสุคติภพภูมิ
สำคัญคือทำทานไม่ควรหวังผลที่เกี่ยวเนื่องกับกิเลส ให้เพื่อขัดเกลาจิตของตน กับให้เพื่อมุ่งหวังประโยชน์ที่ผู้รับแม้จะเป็นแค่ความคิด กรรมตั้งแต่ระดับจิตใจก็จะทำหน้าที่ของมันโดยอัตโนมัติ และจัดสรรชีวิตไปในทางที่ควรจะเป็นเองโดยที่เราไม่ต้องกังวลใจมากเกินไป
สรุป การใส่บาตรเป็นการทำสังฆทานอย่างหนึ่ง อานิสงส์ไม่ได้แตกต่างจากการทำสังฆทานรูปแบบอื่น สาระของการทำทานอยู่ที่องค์ประกอบสามส่วน ราคาและความหลากหลายของสิ่งที่ถวายไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่คุณค่าและประโยชน์ใช้สอยของสิ่งนั้นต่างหากที่สำคัญ เราสามารถทำทานให้ถูกหลักพุทธศาสนาได้โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมาก ทาน (และสังฆทาน) เป็นเรื่องเรียบง่าย ทว่างดงามและเปี่ยมด้วยคุณค่า
18 ความคิดเห็น:
ขอบคุณค่ะ น้าเม้งสำหรับเรื่องราวดีๆ เป็นคนนึงที่เคยซื้อสังฆทานเป็นชุด แต่ช่วงหลังมาก็มักจะให้ยาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเวลามี พระ ท่านเข้ามาที่ร้านปูก็มักจะถวายยาให้ท่าน รู้สึกดีกว่าให้เป็นถังเหลืองๆ อีกอ่ะค่ะ ^^
โอ๊ะ.. ดีจัง จริงๆไม่เคยทำน่ะ.. สังฆทาน แต่ว่าอ่านแล้ว อึ้มมได้ความรู้ดีอะ
กำลังคิดว่า ปีที่แล้ว ไม่ได้ทำ สังฆทาน แต่ ตักบาตร บ่อย ๆ
อ่านแล้ว ก็สบายใจขึ้นค่ะ...ขอบคุณค่ะ
(。︶.︶。)o.....อืมมม ๆ เดว ไปทำ มั่ง ดี ก่า ..แต่ สังฆทานเนี้ยย นาน ๆ ทำที อ่ะ ค่ะ ^__^"
แล้วจะไปทำม่ะ
^_____________________^ ใส่แล้วแช่มชื่น
เยี่ยมคะ
~ สาธุ๊....
โชคดีที่ไม่เคยทำทั้งคู่ ฮ่าๆ
อะนะ
เสริม
บางครั้งเราไปซื้อถังฆทานจากร้าน
บางร้านขาดความรับผิดชอบ
เอาของที่หมดอายุ หรือใกล้หมดอายุมาใส่ในถังก็มี
goodddddddd ka ขอให้อานิสงฆ์ ผลบุญในการเผยแผ่ บทความธรรมะได้นำท่านสู่ความสุขความเจริญ ค่ะ
ว่าแล้ววันเกิดปีนี้ไปทำบุญ ถือศีลอีกดีกว่า
ขอบคุณมากจ้าลุง สำหรับข้อมูลดีดี ^^
เคยอ่านหนังสือมาเหมือนกัน ประมาณว่า การทำบุญด้วยเครื่องสังฆทานที่เขาจัดชุดไว้โดยไม่ตรวจก่อน ทำให้เราผลบุญนั้นไม่เต็ม 100 ด้วย
เพราะถ้าเรามักง่าย เอาของไม่ดีไปให้คนอื่น (ไม่จำเป็นต้องเป็นพระ) จะมีผลทำให้เราซื้อของอะไรมา ก็มักจะเจอของมีตำหนิ ของเสีย ทั้งที่เลือกแล้วอย่างดี เป็นบุญผสมบาปเล็กๆโดยไม่ตั้งใจนะ
ทำแต่ความดี...ละเว้นความชั่ว...ทำจิตใจให้ผ่องใส....^^
:)
ไปตักบาตรในเร็ววันนี้ดีกว่างั้น
ขอบคุณครับ ^^
แสดงความคิดเห็น