ถ้าถามว่าใครอยากเป็นคนเก่งบ้าง
ก็คงมีคนยกมือกันสลอนไปหมด
แสดงว่าความเก่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการ
แต่ในความเก่งนั้น
ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งหลายๆคนไม่ชอบ เช่น
เก่งแล้วถูกอิจฉา
เคยมีหมอรุ่นน้องคนหนึ่ง มาปรึกษาและเล่าให้ฟังว่า
เมื่อตอนที่เขากลับจากนอกใหม่ๆ เขาเป็นคนเก่งมาก ฉลาดมาก
ท่าทางดี บุคลิกดี การพูดจาเฉียบแหลม
การเสนอแนวความคิดดีมาก
เขากลับมาก็เข้ารับราชการ
จากผลงานการทำงาน ที่มาจากสมองและความสามารถของเขา
ทำให้เขาประสบความสำเร็จ เจ้านายก็ชอบลูกน้องก็ชอบ
แต่เพื่อนๆ หมอด้วยกัน ไม่ค่อยชอบเขา
เขาถูกโจมตีด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีคนคอยจับผิด
ขยายความผิดเล็กน้อย ให้กลายเป็นความผิดใหญ่โต
ในวงการวิจารณ์และนินทา
จะต้องมีชื่อของเขาถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้งมาก
หมอรุ่นน้องที่เคยเดินตามหลังเขามาก็พลอยอิจฉาไปด้วย
หมอรุ่นพี่บางคนที่ก้าวร้าวมากหน่อยถึงกับเคยจับแขนถามว่า
เมื่อไรจะลาออกไปเสียที
เขาเคยนึกโกรธและคิดจะลาออก
แต่ก็เตือนตัวเองเอาไว้ว่า ไม่ควรจะลาออก ในตอนโกรธ
จนสุดท้ายเขาเกิดความรู้สึกว่า
เขาน่าจะได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอะไรๆ ได้อีกมากมาย
ถ้าหากลาออกจากราชการ
เขาจะลาออกจากราชการด้วยความพร้อมและไม่ได้โกรธบุคคลเหล่านั้น
เป็นแค่รู้สึกตัวว่าถูกอิจฉามาก
ขณะนี้เขาก็ประสบความสำเร็จ ในอาชีพส่วนตัวของเขามากมาย
เก่งแล้วเหงา
รายนี้เป็นนักบริหารระดับสูงของบริษัทที่ใหญ่โตแห่งหนึ่ง
เขาจบการศึกษาจากต่างประเทศ บุคลิกดี พูดจาคล่องแคล่ว
ฉะฉาน ความคิดริเริ่มดีมาก
และประสิทธิภาพในการทำงานก็เป็นเยี่ยม
เขาเล่าให้ผมฟังว่า
เจ้านายชอบเขามาก
เพราะเขามีส่วนช่วยพัฒนาบริษัทให้เจริญก้าวหน้าและทำกำไรให้มากกว่าเดิมมากมาย
เขาได้รับการสนับสนุนจากนาย ทั้งตำแหน่งและเงินเดือน
ลูกน้องโดยตรงที่อยู่ระดับล่างๆ จะเกรงใจเขา
และพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของเขาทุกประการ
แต่บุคคลที่อยู่ระดับบริหารในฐานะที่ใกล้เคียงกับเขา
หรือเป็นรองเขาเล็กน้อยจะไม่ค่อยชอบเขา
มักจะไม่ให้ความร่วมมือหรือมักรวมหัวกันประท้วงเงียบบ่อยๆ
ทำให้มีอุปสรรคมากขึ้นในการทำงาน เขาเล่าให้ฟังว่า
"งานบางอย่างผมทำให้เสร็จได้ภายใน 1 วัน
แต่ถ้าให้พวกเขาทำกัน เขาจะเสียเวลาในการประชุมถกเถียงด้วยวิธีที่เยิ่นเย้อ
หรือมีการเสนอแผนงานที่ไม่รัดกุม
ทำให้ผมรำคาญ ครั้นพอผมเสนอแผนงานออกไป
มันเข้าท่ากะทัดรัดและผลลัพธ์ก็ได้ดี จึงทำให้พวกเขารู้สึกเสียหน้า และไม่ชอบผมเลย"
เขาก็รู้สึกเหงา ทั้งที่ทำงานได้ผลดี แต่รู้สึกว่าไม่มีเพื่อน
"บางครั้งผมรู้สึกว้าเหว่ และชักไม่แน่ใจว่า
ตัวเองจะทำงานไปเพื่ออะไร ทำไมผมจึงไม่มีเพื่อน
ทั้งๆที่คิดว่าตัวเองอยากได้เพื่อน
และพยายามทำดีกับเขา แต่เขาก็ไม่ยอมรับให้ผมเป็นเพื่อน
ผมรู้ดีว่าความสำเร็จในขั้นสูงสุดต่อไปนั้น
ต้องอาศัยแรงผลักดันจากเพื่อนร่วมงานที่พร้อมจะร่วมมือด้วย
ผมจึงกังวลกับความรู้สึกว้าเหว่ ในที่ทำงานของผม" เขากล่าวในตอนท้าย
เก่งแล้วระวังตัว
คนเก่งรายนี้จบปริญญาเอก มาเล่าให้ฟังว่า
ด้วยความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นคนเก่ง ทำงานเก่ง ประสบความสำเร็จมาก
ผู้คนรอบข้างก็คอยดูว่า เขาจะทำอะไรต่อไป
และอีกหลายๆ คน ก็พร้อมจะเยาะเย้ยทันที ที่เขาทำอะไรพลาด
เขากล่าวว่า "ผมเลยต้องคอยระวังตัวในการทำงานอยู่เสมอๆ
เพราะกลัวว่าถ้าพลาดลงมาจะมีคนพร้อมจะกระทืบซ้ำทันที"
แน่นอน มนุษย์อิจฉาคนเก่ง แน่นอนที่สุด
ที่คำกล่าวนี้เป็นจริง เพราะมนุษย์อยากมีความเก่ง
แต่มนุษย์ก็ไม่ค่อยมีความเก่งกันหรอก
ความเก่งจึงเป็น 'ของหายาก' ที่ใครๆก็อยากได้มีไว้ในครอบครอง
เมื่อตัวเราไม่สามารถมีไว้ได้ ก็เลยอิจฉาคนอื่นที่เขามีอยู่
และไม่อยากให้เขามีไว้ ในครอบครองด้วย โดยเฉพาะคนเก่งที่เป็นผู้ชาย
เขาจะถูกอิจฉาโดยผู้ชายด้วยกันมากมาย
แม้ว่าต่อหน้าเขาจะทำท่าทีชื่นชมกันก็ตาม
เพราะผู้ชายเป็นเพศที่อยากได้อำนาจ และอยากได้ความตื่นเต้นมากๆ
ความเก่งจะทำให้เขาได้อำนาจ และสร้างความตื่นเต้นของชีวิต ในรูปแบบต่างๆ ได้
ผู้ชายจึงพร้อมจะเลียนแบบ คนเก่งได้ดี
และก็พร้อมจะโค่นคนเก่งลงได้ดีเช่นกัน
เพราะความอิจฉาโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีศักยภาพใกล้เคียงจะอิจฉากันมาก
ถ้าหากมีสถานภาพหรือศักยภาพ แตกต่างกันมากๆ
จะไม่อิจฉากันมากหรอก เช่น ขอทานหรือภารโรง มักไม่อิจฉานายกรัฐมนตรีหรอก!
ผู้หญิงจะชื่นชมคนเก่ง ได้ดีกว่าผู้ชาย ใช่ถ้าคนเก่งนั้นเป็นผู้ชาย
ผู้หญิงจะเป็นพวกที่ชื่นชมคนเก่งที่เป็นผู้ชายได้อย่างมั่นคง
และอย่างออกหน้าออกตา และในความหมายของคนเก่งนั้น
เราก็มักนึกถึงผู้ชายกันมากกว่าผู้หญิง
ผู้ชายเก่งทั้ง 3 รายที่กล่าวมาแล้วนั้น พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
เขาไม่มีปัญหากับผู้หญิงเลยและผู้หญิงเป็นกลุ่มที่ชื่นชมเขา
อย่างออกหน้าออกตาด้วย เป็นไปได้ว่า
ในสภาพจิตใจของผู้หญิงนั้น พวกเธอต้องการความปลอดภัย และความมั่นคงในชีวิต
ไม่ชอบเสี่ยงโลดโผนอะไรมากนัก
ฉะนั้นการรู้จักคนเก่งจึงทำให้เธอรู้สึกปลอดภัย และอยากอยู่ใกล้
อยากเก็บเอาไว้นานๆมากกว่าอยากจะแข่งขัน หรือทำลายเสีย
ถ้าเป็นผู้หญิงเก่งเล่า ใครจะอิจฉาดูออกจะเสียเปรียบสักหน่อย
ที่ถ้าผู้หญิงนั้นเก่งเท่าๆกับผู้ชาย ผู้หญิงด้วยกันก็จะอิจฉา และผู้ชายก็จะยอมรับได้ยาก
แต่ถ้าหากเก่งเกินชายไปเลยก็จะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากชายและหญิง
ก็ดูอย่าง อินทิรา คานธี หรือ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์เป็นไร
เก่งแล้วให้สบายใจด้วย ทำอย่างไรดี
นั่นคือคำถามที่ผมได้รับจากคนเก่งอยู่เรื่อยๆ
ก็เลยอยากแนะนำว่า
1. ต้องรู้จักถ่อมตัวให้เป็น อย่ายกตัวนัก คนเขาไม่ชอบ จงให้โอกาสคนอื่นเขาเก่งบ้าง
สนับสนุนหรือให้โอกาสคนอื่นเขาพูดถึงความสำเร็จของเขาบ้างชมเขาด้วย และต้องชมด้วยความจริงใจ
2. ทักทายคนอื่นก่อนเสมอ ๆ จับไม้จับมือลูกน้องบ้างเมื่อมีโอกาส(เพศเดียวกัน)
ถ้าไปงานชุมนุมศิษย์เก่าของสถาบันคุณก็ต้องเป็นฝ่ายไปทักทายเพื่อนฝูงก่อนเสมอ อย่ารอให้เขามาทักทาย
เรา
เพราะจะมีอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่กล้าหรือไม่ยอมเข้ามาทัก แต่จะไปนินทาลับหลังว่า หยิ่ง ...ยโส
จงยิ้มแย้มแจ่มใสต่อคนอื่นเสมอๆ เมื่อมีโอกาสก็ให้วานลูกน้องหรือคนอื่น
ทำอะไรให้ตัวเองเสียบ้าง ก็คือทำตัวเป็นคนไม่เก่ง
หรือเป็นคนอ่อนแอเสียบ้าง คนที่เขาได้ทำอะไรให้เราได้บ้าง เขาจะได้ชื่นใจ
3. มีความคงเส้นคงวา รักษาความเก่งให้คงที่ เพราะคนเก่งนั้นคนเขาคาดหวังสูง
ถ้าทำอะไรเหมือนคนทั่วๆ ไป คนอื่นเขาก็จะแลดูว่าธรรมดาหรือไม่เข้าท่า
ฉะนั้นขั้นตอนการทำงานและประสิทธิภาพ ในการทำงานของคนเก่งจะต้องดีกว่าคนอื่นๆ
4. มีโลกส่วนตัวของตัวเอง จงคบกับเพื่อนสนิทๆ ที่จะได้บ่นหรือแสดงความอ่อนแอได้บ้าง
ฝึกหัดจิตใจของตัวเองให้ยอมรับความพ่ายแพ้ที่จะเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่งแน่ๆ
เพราะแม้ว่าเราจะเก่งแค่ไหน แต่เราก็ต้องแก่ลงๆ จะมีคนอื่นที่เก่งกว่าเข้ามาแทนที่
เราจะได้ไม่เสียใจมากขึ้นเมื่อถึงเวลานั้น
5. คนเก่งทั้งหลายมักมีเงื่อนไขมากต้องลดเงื่อนไขในชีวิตของตนเองและกับคนอื่นลงด้วย
ต้องฝึกใจให้มีความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข(Unconditioned Love) กับบุคคลทั่วๆ ไป
รักในความเป็นเพื่อนมนุษย์ของเขาเท่านั้นก็พอ ใจจะกว้างขึ้น
6. ต้องมีการรู้ระวังตัวเอง (Self Awareness)อยู่ตลอดเวลา
รู้ว่าตอนไหน ควรทำอะไรและอย่างไร จึงจะเหมาะสม
ความเหมาะสมเป็นสิ่งที่คนเก่งมองข้ามเสมอ เพราะมักจะมองแค่ความถูกต้องเรื่อยๆ
7. ช่วยพัฒนาลูกน้อง หรือคนข้างเคียงไปด้วย เขาจะได้ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง
ก็ขอให้คนเก่งทั้งหลายจงโชคดี
อย่าเก่งแล้วโชคร้าย โดยมีคนเกลียดรอบข้างมากมายเลย
เรียบเรียงโดย : ศ.ดร.น.พ.วิทยา นาควัชระ (จิตแพทย์)
9 ความคิดเห็น:
การทำใจไม่ยึดติด ยอมรับความสามารถคนอื่นบ้าง ก้อพอช่วยให้ลดความหมั่นไส้จากคนอื่นลงได้
พรุ่งนี้จะมาอ่านนะ
บทความดีจังครับ จานเม้ง
ไม่เก่ง .. เลยไม่เจอปัญหาแบบนั้น ..
อยากเก่ง แต่ไม่อยากเหงา ...ง่ะ
ขอบคุณคับ
นานาจิตตัง...
ผมว่า จริง ๆ โรคขี้อิจฉา คนเก่ง ก็เป็นกันทั้งโลกนะครับ แต่จะเป็นกันรุนแรง และเอาจริงเอาจัง ที่เมืองไทย ฮ่า ๆ ,,, เศร้าเลย
ดีมากๆ เลยค่ะ
อ่านแล้วได้ข้อคิดอะไรเยอะเลย
คนเก่งมาอ่าน แหงเลย อิอิ
แสดงความคิดเห็น