ดิฉันได้ติดตามอ่านมุมมองและข้อคิดด้านศาสนาและการดำรงชีวิตตามวิถีพุทธ
ของพระไพศาล วิสาโล ที่น่าสนใจยิ่ง อยู่เป็นระยะๆ
ล่าสุดท่านพูดถึงการดำรงชีวิตอยู่กับ “มาร”ให้ทำตัวเป็นเพื่อนกับมารโดยมองตัวเราว่าไม่ได้แยกออกจากสิ่งอื่น ทุกอย่างอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสาน
“ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว
ความตายมีอยู่ในชีวิต
ความเจ็บป่วยมีอยู่ในความไม่มีโรค”
ดิฉันขออนุญาตนำเอามุมมองนี้ไปใช้แบบปุถุชนคนทำงานและ
เห็นคล้อยตามว่าในมุมมองคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ชีวิตถูกรายล้อมด้วย “มาร” อย่างแท้จริง
โดยเฉพาะชีวิตคนทำงานส่วนใหญ่ในวันนี้มี “มาร” หรือตัว “ทุกข์”มากมายก่ายกอง
งานหนัก งานยาก ถูกวัดผลเข้มเครียด นายไม่เข้าใจ นายลำเอียง เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ทีมงานกลั่นแกล้ง ลูกค้าโหดร้าย
ลูกน้องเลื่อยขาเก้าอี้
สารพัด “มาร”ที่ทำให้เราจิตตกรายวัน
อย่างไรก็ดี หากมองอีกแง่มุมหนึ่ง ความทุกข์เหล่านี้มิได้เป็นทุกข์ที่แท้จริงถาวร
งานหนักงานยากงานท้าทาย เมื่อวันก่อนเป็นสิ่งที่เราอาจแสวงหา เพราะก่อนหน้าเมื่อวันก่อน เราอาจต้องทำแต่งานประจำ ฝรั่ง
เรียกงาน routine ซ้ำๆ ซากๆ น่าเบื่อหน่าย วันนั้นรู้สึกว่าอนาคตตีบตัน ฉันคงไม่ได้เรียนรู้อะไรอีกตลอดชีวิต วันๆ ได้ทำแบบ
เดิมๆ อยากได้งานใหม่ๆ อยากได้งานยาก อยากได้งานท้าทายความสามารถ แม้งานหนักเท่าไรก็จะไม่บ่น เพราะเห็นเป็นหนทาง ก้าวหน้า
เมื่อวันนั้น เจ้า "มาร" ของวันนี้ ดูแสนดีเป็น “มิตร” ที่ไม่เคยคิดร้าย มีแต่ให้โอกาส
เวลาผ่านไปไม่นาน “มิตร” กลับกลายเป็น “มาร” เสียเฉยๆ
ดิฉันเชื่อว่ามีคำอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างน้อย 3 มิติ
มิติแรกคือการผสมผสาน
ทุกอย่างมีการผสมผสานอยู่ร่วมกันมิได้เป็นสุดขั้วแยกจากกันดังคำสอนของ
พระไพศาล วิสาโล
เป็นเฉกเช่น หยินและหยาง
บางคนแปลและยกตัวอย่างว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ในมิตรมีสิทธิเป็นศัตรู หรือศัตรูตัวร้ายสามารถเข้าข่ายเพื่อนได้ยาม
จังหวะเหมาะ ตัวอย่างเห็นได้มากมายทั้งวงการคนทำงาน วงจรธุรกิจ และแวดวงการเมืองทุกระดับ
ดังนั้นปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราต้องเรียนรู้ที่จะไม่ยึดติดกับสิ่งที่ทั้งดูดีและดูร้าย
เมื่อดูร้ายกาจ ก็อย่ามุ่งจงเกลียดจงชังงานชิ้นนี้ นายคนนี้ ลูกน้องคนนี้ เพราะในความร้ายต้องมีความน่ารักผสมผสานอยู่บ้างละน่า
ต้องหาๆ
หรือแม้เมื่อดูแสนดี ก็อย่าได้หลงใหลจนหัวปักหัวปำ ถลำลึกสุดขั้ว มัวแต่เป็นปลื้มลืมนึกว่าเจ้านายแสนดีหรือลูกน้องคนโปรด เขาก็
ปุถุชนเหมือนเรา ล้วนมีดีบ้างชั่วบ้างผสมผสานอย่างแนบเนียน
พระไพศาล วิสาโล ชี้แนะว่าแม้แต่ “ความดี” ก็มีสิทธิเข้าข่าย “มาร”ได้ ถ้าเรายึคติด คิดว่าแน่ คิดว่าเท่ คิดว่าตนเก๋กว่าใครๆ
เพราะมี “ความดี” นี้
มิติที่สองคือความพอดี
งานประจำ ทำมากๆ น่าเบื่อ ทำมากๆ เข้า เราเริ่มเห็นเป็น "มาร" มาผจญ
งานท้าทาย ทำแรกๆ เป็น "มิตร" เป็นเพื่อนยาก
หนักเข้าๆ ท้าทายเกินเหตุ กลายเป็น "มาร" มาผลาญความสุข
อยากได้งานประจำงานซ้ำๆ กลับมาเป็น "มิตร" ใหม่
ความพอดีอยู่ตรงไหน....ตอบยาก
หลายคนจะเอาตัวตนของเขาเป็นตัวตั้ง “พอดี” “ไม่พอดี” อยู่ตรงนี้
...งานหนัก งานยาก ถูกวัดผลเข้มเครียด นายไม่เข้าใจ นายลำเอียง เพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ทีมงานกลั่นแกล้ง ลูกค้าโหดร้าย
ลูกน้องเลื่อยขาเก้าอี้
โปรดสังเกตว่าทุกอย่างข้างต้นโยงมาที่ “ตัวตน” ของเราทั้งสิ้น
หากยึดติดกับตัวตนน้อยลง ชีวิตต้องสุขขึ้น พอดีขึ้นแบบอัตโนมัติ
มิติที่สามคือเรื่องอัตตาและมุมมองของเรา
นาย “ลำเอียง” เพราะเอียงไปทางอื่น
หากเอียงมาทางฉัน ไม่มีทางถูกตราหน้าว่า “ลำเอียง” หากเฉียงมาทางฉัน มันคนละเรื่องเดียวกัน อย่างนี้เขาเรียกว่าเจ้านายใจ
ดี มีคุณธรรม รักลูกน้องปกป้องยามถูกกลั่นแกล้ง บางครั้งเลยดูเอียงๆบ้าง ถือว่าใช้ได้
ดังนั้นใครจะดีใครจะร้าย ขึ้นอยู่กับมุมของผู้มอง ซึ่งอาจเห็นเสี้ยวที่แตกต่างจากผู้อื่นที่มองสิ่งเดียวกันจากอีกมุม
หากกลับไปดูตัว “มาร” ทั้งหลาย
“งานหนัก” เพราะฉันต้องหิ้ว ต้องแบก จึงหนัก หากคนอื่นต้องทำงานนี้ ฉันอาจไม่คิดว่ามันหนักหนาสาหัสอะไรมากมาย
“ลูกค้าโหด” เจ้าอารมณ์ ปากร้าย ด่ากราดไม่ไว้หน้า ด่าทีเรานี้แสนเจ็บแสบ เพราะเขาว่าเรา
ยามที่เราได้ยินเขาก่นด่าเพื่อนร่วมงาน เราก็ไม่เห็นเจ็บใจทุรนทุร้ายโกรธแค้นเหมือนที่เขาว่าเรา
ดังนั้น สรุปได้ชัดเจนว่ามิใช่ “คำด่า”ที่เป็น “มาร” แต่ “ใจ”เราต่างหากที่เป็น “มาร” ที่ยกให้คำนี้ คำนั้นเป็น “มาร” ยามที่หูเรา ใจเรายกให้เขาเป็น
ยามคำนี้ถูกไปใช้ทิ่มแทงชาวบ้าน บางครั้งเราอาจเห็นเป็นเรื่องสนุก ฟังเขาตะโกนต่อว่ากันเพลินไปอีกแบบ
หรือหากคำต่อว่านั้น ถูกพุ่งไปสู่ผู้ที่เป็น “ศัตรู”ของเรา คำต่อว่านั้นไม่ใช่เพียงแต่ไม่เป็น “มาร”แต่กลายเป็น “มิตร” เพราะอะไรที่
ทำร้ายศัตรูของเรา สามารถเป็น“มิตร” กับเราได้แน่นอน
ดิฉันเชื่อมั่นว่าเมื่อมองกลับไปกลับมาทั้งสามมิติข้างต้น คนทำงานน่าจะมีความสงบสุขมากขึ้นในการทำงาน เพราะ “อำนาจ”ในการ
ทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้น มีความสุขขึ้น อยู่ที่เราอย่างแท้จริง มิใช่อยู่ที่ทั้ง “มิตร”และ “มาร”ที่ลวง ที่หลอกให้งง
หากทำความเข้าใจ และทำใจได้ว่าเราหนีทั้ง “มิตร”และ “มาร”ไม่พ้น เพราะเขาผสมผสานกัน แยกไม่ออก จึงต้องทำใจนิ่งๆ
และยอมรับสภาพของความเป็นจริง
เหมือนชีวิตคนทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อเลือกแล้วว่าจะทำงานในมหานครแห่งนี้ก็ต้องสงบใจและยอมรับความเป็นจริงทั้งสิ่งที่ดี เช่น งานดีๆ และสิ่งที่เป็นข้อจำกัดของกรุงเทพฯ เช่น มลภาวะทางอากาศ อย่างไรเสียก็ต้องอยู่กับมัน ต้องอยู่ร่วมกัน แทนที่จะตีโพย ตีพาย อากาศก็เสีย อารมณ์ก็เสีย สู้หาหนทางอยู่ร่วมกันโดยไม่ทำร้ายกันมากขึ้น เราไม่สร้างมลภาวะเพิ่ม หรือ ลุกขึ้นมาออกกำลัง
กายเพิ่มภูมิคุ้มกัน ดูเข้าท่ากว่าก่นด่าลมแล้งมากมายค่ะ
อาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งที่ดิฉันนับถือ คุยกับดิฉันว่าทำไมคนชอบกลัว ชอบเกลียดมะเร็งนักหนา มักถามว่าจะหายไหม ขณะที่เขาจะไม่
กลัวโรคอื่นๆ ที่มีสิทธิร้ายแรงถึงชีวิตและอาจรักษาไม่หายเช่นเดียวกันเท่ากับกลัวมะเร็ง
ท่านสอนว่า เมื่อเขามาอยู่กับเราแล้ว หากหลีกเลี่ยงกันไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเขาโดยไม่ปล่อยให้เนื้อร้ายทำลายสภาพ
จิต และส่วนอื่นๆ ที่ดีๆ ในชีวิตของเราไปจนหมด
มะเร็งมีคุณค่าที่ทำให้เราเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของเวลาที่มีอย่างแท้จริง
เราคงเคยมองคนในที่ทำงานบางคนที่แสนร้ายกับเราเป็นก้อนมะเร็ง อยากจะผ่าทิ้งก็ผ่าไม่ได้(เพราะบางครั้งเป็นเจ้านายค่ะ)
บทเรียนวันนี้สอนว่า หากยังรักที่จะทำงานที่เดิม ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมนุยษ์มะเร็งคนนี้ หน้าที่ของเราคือเมื่อมอง “มะเร็ง”ก้อนนี้ ต้องหาข้อดีของเนื้อร้ายให้ได้
ลดอัตตา ลดตัวตน
มองเขาอย่างเป็นกลาง อย่างเป็นธรรม พยายามเล็งจากทุกมุม
มุมหนึ่งอาจจะทำให้เราตกใจมาก
เพราะมองจากมุมเขา....เราก็อาจเป็นก้อนมะเร็งเช่นกัน
8 ความคิดเห็น:
สาธุค่ะพี่เม้ง สอนให้เห็นสัจจะธรรมกันปายยย ^^
เป็นสัจจะธรรมจริงจริงเลยย
ขอบคุณค่ะพี่เม้ง แต่เป็นมิตรกับมารทีไร แพ้มารทุ้กทีT_T
อืมๆ .... มีเหตุผลมากๆ ถ้าคอฃิดได้ทุกคนก้อดีนะ โลกจะได้สดใส
จ่ามะลิ
มารจะมาเพราะทัศนคติ
เพราะมองจากมุมเขา....เราก็อาจเป็นก้อนมะเร็งเช่นกัน..จริงๆด้วยแหละ
สุดยอด
ใช่ครับ ต้องฝึกพลิกแนวคิดกันบ่อยๆ
แสดงความคิดเห็น